‘ขนส่ง’กางแผนสร้างศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้านบาท เตรียมเวนคืน 121 ไร่ ลุยตอกเสาเข็มปี 66 เล็งศึกษาแผนแม่บทศูนย์ขนส่ง 3จังหวัด คาดศึกษาแผนแล้วเสร็จปีนี้
11 ส.ค.2565-นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนม วงเงินรวม 1,361 ล้านบาท พื้นที่รวม 121 ไร่ ที่ผ่านมากรมฯได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net cross) ขณะนี้กรมฯได้จัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ผ่านการยื่นข้อเสนอและส่งร่างสัญญาต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเสร็จ ปัจจุบันทราบว่าทางสำนักงานอัยการสูงสุดมีความคิดเห็นให้ปรับข้อมูลเล็กน้อย
“คาดว่าจะดำเนินการให้เรียบร้อยได้เร็วๆนี้ โดยจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ภายในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในปี 2565”นายจิรุตม์ กล่าว
สำหรับเอกชนทั้งหมด 6 ราย ที่เข้าซื้อซองประมูลศูนย์ขนส่งนครพนม ประกอบด้วย 1.บริษัท ชาญนครวิศวกรรม จํากัด 2. บริษัท วีอาร์ไพล์ จำกัด 3. บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด 4. บริษัท ไพโอเนียร์ โกลบอล ซัพพลาย จำกัด 5. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และ6. บริษัท สินธนโชติ จำกัด โดยมีบริษัทที่ยื่นข้อเสนอของโครงการฯ จำนวน 1 ราย คือ บริษัท สินธนโชติ จำกัด
นายจิรุฒม์ กล่าวต่อว่า หากลงนามสัญญาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการฯระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นผู้เริ่มดำเนินการเตรียมพื้นที่เวนคืนที่ดินและระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 685 ล้านบาท เพื่อเริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 ก่อนภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินการลงทุนก่อสร้างโครงการฯ เพิ่มเติม วงเงิน 676 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าและเครื่องมือการใช้งาน รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568
ทั้งนี้เอกชนที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ขนส่งสินค้า จังหวัดนครพนม จะต้องรับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ในส่วนอาคารที่อยู่ในความรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปีนับจากปีเปิดให้บริการ
นายจิรุฒม์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าแผนแม่บทโครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในจังหวัดอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งหมด 3 จังหวัด ประกอบด้วย หนองคาย, สุราษฎร์ธานี,มุกดาหาร เบื้องต้น โครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดหนองคาย ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ให้กรมฯช่วยพิจารณาโครงการฯ เพราะเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุด
โดยกรมฯมีนโยบายมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการเพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินให้น้อยที่สุด เนื่องจากรฟท.มีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าบริเวณสถานีนาทา ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสินค้าและรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมทั้งโครงการรถไฟลาว-จีน ในอนาคต
อย่างไรก็ตามขณะที่แผนแม่บทโครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและมุกดาหาร ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างทบทวนผลศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯใหม่ควบคู่กับการศึกษาในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เนื่องจากผลการศึกษาเดิมเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ตอบโจทย์ในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางราง ทำให้ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการฯอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงระบบขนส่งทางรางมากที่สุด
ทั้งนี้สาเหตุที่กรมฯเลือกศึกษาพื้นที่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและแหล่งวัตถุดิบในการขนส่งสินค้าทางภาคใต้ ซึ่งจากการประเมินถือเป็นแหล่งที่เหมาะสมที่สุดและเป็นศูนย์การขนส่งที่ใกล้จังหวัดอื่นๆด้วย ส่วนสาเหตุที่เลือกศึกษาจังหวัดมุกดาหาร เพราะเป็นจังหวัดที่เชื่อมต่อกับสะหวันเขต ประเทศสปป.ลาว และเชื่อมต่อประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเร่งรัดศึกษาทั้ง 2 โครงการฯให้แล้วเสร็จภายในปี 2565