ปิดฉาก 10 ปี ศาลปกครองสูงสุด ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้อง คดีชาวบ้าน 8 จังหวัดริมโขง ฟ้องหน่วยงานรัฐทำสัญญาซื้อไฟจากเขื่อนไซยะบุรี ทำให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติ และทำสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
17 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ส.ค.) ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ห้องพิจารณาคดี หมายเลข 14 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ ส.59/2556 ชาวบ้าน 37 ราย ในนามเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง (ถอนฟ้อง 1 ราย) ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย) และคณะรัฐมนตรี
บรรยากาศวันนี้มีตัวแทนชาวบ้าน และทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา ขณะที่ตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐจาก 4 หน่วยงานผู้ถูกฟ้อง เข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา ยกเว้น กฟผ.
ตัวแทนชาวบ้านมารับฟังการพิจารณาคดีที่ศาลปกครอง คดีเขื่อนไซยะบุรี เมื่อ 17 ส.ค. 2565
ชาวบ้านฟ้องหน่วยงานรัฐ จำนวน 3 ข้อกล่าวหาหลัก คือ 1. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ ไม่สมบูรณ์
2. หน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ
และ 3. การอนุมัติของ ครม. ให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไซยะบุรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นการลงนามระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เมื่อเดือน ต.ค. 2554 โดยการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญไทย และความตกลงว่าด้วยการพัฒนาลุ่มน้ำโขงแบบยั่งยืน หรือ “ความตกลงแม่น้ำโขง” ซึ่งรวมถึงระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for Notification Prior Consultation and Agreement: PNPCA)
ในขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะได้รับการลงนามก็ต่อเมื่อพันธกรณีระดับภูมิภาคใต้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นเสียก่อน แต่ประเทศไทยกลับเดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยที่กระบวนการการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงยังไม่แล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ทางชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณลุ่มน้ำโขง ยังมีความเป็นห่วงต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมติดตามมาภายหลังการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี เช่น การสูญพันธ์ของพันธุ์ปลานานาชนิด ความมั่นคงทางอาหาร ตะกอนดินและแร่ธาตุ น้ำแล้ง ผลกระทบด้านอาชีพเกษตรกรรมและประมง และอื่นๆ
เมื่อเวลา 9.50 น. ผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์ และอ่านคำพิพากษา ยืนตามคำตัดสิน ‘ยกคำร้อง’ ของศาลปกครองชั้นต้น โดยใช้คำว่า ‘ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล’
ประเด็นที่ 1: สัญญารับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ไม่ได้ส่งผลต่อชาวบ้านโดยตรง
เพจเฟซบุ๊ก ‘ศาลปกครอง’ ลงคำพิพากษากรณีนี้ ระบุว่า ประเด็นแรก ตามที่ผู้ฟ้องลำดับที่ 1 และลำดับที่ 3-37 ฟ้องร้องว่า ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี และผู้ฟ้องร้องระบุว่าความเสียหายดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี จ.ไซยะบุรี ประเทศลาว ของ กฟผ.
ในประเด็นนี้ ศาลพิจารณาแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. คิดเป็น 95% นั้น ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนโดยตรงแก่ผู้ฟ้องร้องทั้งหมด จนเกิดผลกระทบต่อสิทธิบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โครงการดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
ประเด็นที่ 2: ชี้กรมทรัพยากรน้ำไม่ได้ละเลยหน้าที่
ประเด็นที่ 2 ผู้ฟ้องร้องกล่าวหาว่าการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ไม่ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และกระบวนการระเบียบ PNPCA ศาลพิจารณาแล้วว่า กรมทรัพยากรน้ำ หรือผู้ถูกร้องที่ 4 ได้ปฏิบัติตาม PNPCA แล้ว เนื่องจากทางกรมฯ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2554 อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย โดยมีผู้เข้ารับฟังข้อมูลจำนวน 86 คน
- ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554 ที่อำเภอเชียงคาน จ.เลย มีผู้เข้าฟังข้อมูลจำนวน 127 คน จาก จ.เลย จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ
- และครั้งที่ 3 เมื่อปี 2554 ที่อำเภอเมืองนครพนม จ.นครพนม มีผู้เข้าฟังข้อมูลจำนวน 125 คน ซึ่งมีคนจากพื้นที่ จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครพนม
นอกจากนี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำ มีการสรุปรายงานจากเวทีฯ และเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อีกทั้ง ทางกรมฯ ได้นำข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรี จาก สปป.ลาว นำมาเปิดเผยในเว็บไซต์ ‘คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง’ ดังนั้น ศาลจึงพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องที่ 4 หรือกรมทรัพยากรน้ำ ได้ทำตามกระบวนการ PNPCA แล้ว จึงมีความเห็นว่าไม่ได้ละเลยหน้าที่แต่อย่างใด
เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ‘ไซยะบุรี’ (ที่มา: เว็บไซต์ CK Power)
ประเด็นที่ 3: โครงการ/กิจกรรมรับซื้อไฟฟ้า ไม่ต้องทำ EIA
ประเด็นที่ 3 ที่ศาลนำมาพิจารณาคือ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ราย มีการดำเนินการทำ EIA ก่อนทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี หรือไม่นั้น
ศาลปกครองสูงสุดไม่ปรากฏพบว่าการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในด้านการจัดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ว่าด้วยการประกาศประเภทกิจการที่ต้องทำ EIA ไม่ได้กำหนดว่าสัญญาซื้อไฟ จะต้องทำรายงาน EIA ศาลเลยมองว่า ไม่จำเป็นต้องทำ EIA ดังนั้น ศาลจึงพิจารณาว่าคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องร้อง จึงไม่อาจรับฟังได้
ประเด็นที่ 4: ผู้ฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องร้องเรื่องสัญญา
ตามที่ผู้ฟ้องร้อง กล่าวหาว่า ทางผู้ถูกร้องที่ 1 หรือ กฟผ. ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้โครงการซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีของ กฟผ. เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการพิจารณาซื้อไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีการคำนวณจุดคุ้มทุน ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้ทำการพิจารณาแล้วตามคำสั่งที่ คส. 8/2557 ลงวันที่ 17 เม.ย. 2557 ว่าผู้ฟ้องร้องที่ 1 และผู้ฟ้องร้องที่ 3-37 ไม่มีอำนาจฟ้องร้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้ว
ทนายความมองต่าง
หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทนายความและชาวบ้านเครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ กรณีความเห็นต่อคำพิพากษาดังนี้
ส.รัตนมณี พลกล้า ระบุว่า เรื่องสัญญาซื้อไฟที่ศาลปกครองสูงสุดตีความว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องร้อง หรือชาวบ้านลุ่มน้ำโขง 37 รายนั้น ทางทนายความมองว่า ศาลอาจจะมองต่างจากชาวบ้าน เพราะฝั่งชาวบ้านมองว่าหากไม่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. แล้ว ก็จะไม่มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าขึ้นมา และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น ชาวบ้านจึงมองว่า สัญญาซื้อไฟของ กฟผ. จึงเป็นต้นเหตุของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ตั้งข้อสังเกตคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะประเด็นการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม และการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจัง หรือประเด็นที่ 2
สำหรับเรื่องการจัดเวทีเผยแพร่การรับฟังความเห็น ซึ่งศาลมองว่ามันมีการจัดเวทีที่จังหวัดเลย เชียงราย และนครพนม ทั้ง 3 เวที มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 กว่าคนต่อจังหวัด และศาลระบุว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบแล้วนั้น
มีคำถามจากเฉลิมศรีว่า มันเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะจะมั่นใจได้อย่างไรว่าประชาชนมีส่วนร่วมกับการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง หรือผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนกระบอกเสียงของคนทั้ง 8 จังหวัด ซึ่งมีประชากรเป็นล้านคนได้หรือ
เฉลิมศรี แสดงความกังวลด้วยว่า หากไม่นับกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลของโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์สำนักนายกฯ โครงการเขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง กลับไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการอีกเลย
ขณะที่อำนาจ ไตรจักร์ ชาวบ้านวัย 62 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากนครพนม และผู้ฟ้องร้อง ได้กล่าวเสริมว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 93 ตำบล และ 1,010 หมู่บ้าน ต้องถามว่าการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นแค่ 3 ครั้ง ถือว่าครอบคลุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้วรึยัง
ด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวเสริมว่า “ทำให้ยิ่งมองว่า ประชาชนจะได้รับบรรทัดฐานของการปฏิบัติที่ดีจากหน่วยงานรัฐจากอะไร ถ้าหากว่ายิ่งกลายเป็นว่ามันเป็นข้อมูลที่ประชาชนนำมาฟ้องได้ ทำให้รัฐยิ่งปกปิดข้อมูลไม่ให้ข้อมูล ไม่เปิดเผย ประชาชนก็ไม่มีข้อมูลมาใช้”
(ซ้าย) ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
ส.รันตมณี ระบุว่า ถ้าในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ดำเนินการโดย กฟผ. ประชาชนสามารถฟ้องตรงได้เลย ซึ่งมั่นใจว่าผลคดีจะมีความแตกต่าง แต่เนื่องจากเขื่อนไม่ได้ถูกสร้างโดย กฟผ.เป็นบริษัทเอกชน กฎหมายไทยเรื่องการฟ้องเอกชน หรือบุคคล มันต้องไปใช้เรื่องกฎหมายแพ่งไม่ได้เปิดโอกาสให้ฟ้องในลักษณะเชิงป้องกันได้ ต้องรอให้เกิดเหตุ หรือผลกระทบถึงจะไปฟ้องเขาได้ เพราะฉะนั้น การพยายามฟ้องให้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุผลกระทบเป็นไปไม่ได้ ประชาชนเลยมาขออำนาจของศาลปกครองสูงสุด เพื่อดูช่องทางว่า ประชาชนจะมีช่องทางไหนอีกบ้างที่จะทำได้ มันเลยเป็นเรื่องของสัญญาซื้อไฟเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
“สัญญาซื้อไฟ ซื้อแล้วมันเป็นยังไง ไฟฟ้าที่ซื้อมาทั้งหมดที่บอกว่าเป็นการซื้อไฟฟ้าเข้าประเทศที่ไม่ใช่เพื่อนำมาใช้ในประเทศ เพื่อนำไปเป็นรัฐสวัสดิการหรืออะไร แต่กลายเป็นเรื่องของการค้าที่เอาไปแสวงหากำไร ซึ่งประโยชน์ไม่ได้ตกกับประชาชน แต่ผลกระทบตกกับประชาชน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ” ส.รัตนมณี กล่าวเพิ่ม
แนวทางการต่อสู้ในอนาคต ส.รัตนมณี ระบุว่า ตอนนี้ผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้ว มี 2 ส่วน เรื่องของการต้องดูว่าศาลยุติธรรมเรื่องแพ่ง เรียกค่าเสียหายได้ไหม แต่ก็มีช่องว่างอยู่ว่าแล้วคนที่จะฟ้องเป็นใคร ซึ่งต้องเป็นบุคคลไทย ปัญหามันทับซ้อนอยู่ว่าการลงทุนจะนับเป็นบริษัทไทยเลย หรือว่าจริงๆ แล้วพอไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ มันเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบโดยบริษัทไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยจะนำมาเทียบเคียงเรื่อง บริษัทน้ำตาลของไทยไปลงทุนที่กัมพูชา และศาลก็รับฟ้องไปแล้วเป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อนำมาใช้ได้
“ทำอย่างไรให้ผู้ที่ไปลงทุน และก็ได้รับผลประกอบการจากการลงทุนนั้น ที่เป็นบริษัทไทย หรือเอกชนไทย รัฐไทยก็ตาม จะต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นในลักษณะผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก” ส.รัตนมณี พลกล้า ระบุ
อ้อมบุญ แม่ค้าส้มตำ ริมฝั่งโขง จ.หนองคาย และเป็นหนึ่งในชาวบ้านจาก 37 รายที่ฟ้องหน่วยรัฐว่า ยอมรับผลการตัดสินของศาล เผยได้ประโยชน์และมุมมองในการต่อสู้แม่น้ำโขงเพิ่ม
“อย่างน้อยดีใจกว่าคราวที่แล้ว ที่ตุลาการแถลงคดีบอกว่า ข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้อง บอกว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐ และอยู่นอกเขตอธิปไตย เราก็กังวลว่าขอบเขตอำนาจของศาลไปไม่ถึง เรารู้อยู่แก่ใจว่า 0.01 ที่เราจะชนะคดีอย่างที่ทนายความได้ปรึกษาหารือกัน แต่อันนี้เป็นโครงการของรัฐ ทั้งนี้ ได้เห็นมุมที่สอง คือ ผลกระทบข้ามพรมแดนมันจะเกิดขึ้นแล้ว และหลังจากนี้คืออะไร อันนี้ช่วยชี้ให้พวกเราเห็นว่า ประชาชนลุ่มน้ำโขง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ประเด็นที่จะต้องฟ้อง ประเด็นที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งหมด ข้อหลักฐาน ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะนำมาสู่ศาลอีกครั้งหนึ่งในขั้นตอนต่อไป”
“วันนี้หนึ่งชัดเจนว่าเป็นโครงการของรัฐ และก็ส่งผลกระทบต่อพวกเรา แต่ประเด็นที่เราฟ้องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะไม่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันนี้ ผลกระทบชัดเจนแล้ว เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ศาลปกครองสูงสุดชี้ในวันนี้ เป็นประโยชน์กับพวกเราด้วยในแง่ของกระบวนการ ขอบคุณที่ให้กำลังใจกันและกัน” อ้อมบุญ กล่าว
อำนาจ ไตรจักร์ ชาวบ้านอายุ 62 ปี จากจังหวัดนครพนม และผู้ร่วมฟ้อง เผยว่า เขายอมรับคำตัดสินของศาลวันนี้ จริงๆ ทำใจมาจากบ้านแต่แรกแล้ว นอกจากนี้ เขาจะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อน เพื่อปกป้องแม่น้ำต่อไป
อำนาจ ไตรจักร์ ประชาชนวัย 62 ปี จากจังหวัดนครพนม
“ศาลท่านให้อ่านคำพิพากษา เรายอมรับ แต่ว่าเราก็รู้ว่า ทิศทางแนวทางที่มันจะเกิดขึ้นต่อไป เราจะทำยังไง เราหนีไม่รอดอยู่แล้ว ในเมื่อผลกระทบแม่น้ำโขงที่มันเกิดขึ้น ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน แต่ยังไงเราก็ต้องอยู่กับมัน พยายามว่าทำยังไงเราถึงจะฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขงของเราที่เราเติบโตมากับมัน เราอาศัยว่าความยุติธรรมจะช่วยเรา แต่ในเมื่อท่านยังมองว่ามองต่างมุมอย่างที่ทนายพูด เราก็ทำใจมาแต่บ้านแล้ว แต่ยังไงเราก็ต้องอยู่กับมัน และเราจะพยายามเก็บทำข้อมูลตรงนี้ เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงต่อไป” อำนาจ เผย
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวถึงความกังวลว่า หลังมีคำพิพากษาวันนี้ว่า กระบวนการรับฟังความเห็นของ PCPNA ของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง จัดเพียง 3 ครั้งก็เพียงพอแล้ว อาจส่งผลต่อโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขงตามมา สามารถสร้างได้โดยง่ายขึ้น และกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนจะถูกลดลงไปอีก
ข้อมูลเขื่อน ‘ไซยะบุรี’
สำหรับที่ตั้งของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ‘ไซยะบุรี’ สร้างกั้นแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในจังหวัดไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว อยู่บริเวณท้ายน้ำลงมาจากเมืองหลวงพระบาง ราว 80 กิโลเมตร (กม.) และห่างจากพรมแดนไทย อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กม.
เขื่อนไซยะบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ทำสัญญาการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 95% ของกำลังผลิตติดตั้ง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผูกพันเป็นเวลา 29 ปี และภายหลังเพิ่มเป็น 31 ปีเมื่อปี 2562
เขื่อนไซยะบุรี เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท ช.การช่าง (CK Power) โดยบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารไทย จำนวน 6 แห่งให้สินเชื่อ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้า (Exim) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทิสโก้ ขณะที่เขื่อนไซยะบุรี เริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562
แผนที่เขื่อนแม่น้ำโขง (ที่มา: mymekong.org) อัปเดตข้อมูลเมื่อ ธ.ค. 2564
ปิดฉาก 10 ปี ชาวบ้านสู้เพื่อแม่น้ำโขง
- 7 ส.ค. 2555 ผู้ฟ้องคดี 37 ราย จาก 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงของประเทศไทย พร้อมทั้ง 1,000 รายชื่อสนับสนุน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในคดีที่เกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี ในนามเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อชุมชน โดยเป็นการฟ้องคดีต่อ 5 หน่วยงานรัฐ มูลเหตุฟ้องคดี 3 ประเด็นตามรายงานข้างต้น
- 15 ก.พ. 2556 ศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับพิจารณาคดี
- 24 มิ.ย. 2557 ผู้ฟ้องคดีได้ร่วมอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด โดยเห็นว่าศาลพิจารณาคดีการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วมไม่ครบถ้วน และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน 2548
เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ม. 9 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง 2542
ผู้ฟ้องคดีแม้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และน่าจะได้รับผลกระทบจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพราะต้องอาศัยพึ่งพิงจากแม่น้ำโขง ผู้ฟ้องคดีจึงควรมีส่วนร่วมต่อการคุ้มครอง ส่งเสริม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อความยั่งยืน
ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นหรือน่าจะเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย จึงย่อมมีสิทธิฟ้องตามกฎหมาย มาตรา 42 วรรค 1 แม้ว่าจะหมดอายุความของคดี แต่ว่าคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงรับไว้พิจารณาตามมาตรา 42 วรรค 2
ศาลปกรองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้รับฟ้องเฉพาะประเด็นที่ว่าการอนุมัติของ ครม. ให้ลงนามซื้อขายไฟฟ้า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่เหลือเห็นตามศาลชั้นต้น
- 30 พ.ย. 2558 – ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องมีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว โดยประเด็นแรก คือ ศาลเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการในเว็บไซต์ www.eppo.go.th และเว็บไซต์สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ทำให้พิจารณาได้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลสัญญาซื้อขายแล้วตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทำให้พิจารณาแล้วว่าไม่ได้ละเลยตามรัฐธรรมนูญ
อีกประเด็นคือ ศาลพิจารณาแล้วว่า การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ไม่มีหน้าที่ต้องการดำเนินการจัดทำผลวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการจัดทำ PNPCA แล้ว
- 25 ธ.ค. 2558 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องรอบแรก
- 25 ม.ค. 2559 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง
- ก.ค. 2562 เขื่อนไซยะบุรี ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ชาวบ้านเผยว่า ระดับน้ำโขงท้ายน้ำลดระดับอย่างรุนแรง กว่า 3-4 ระดับภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง และการอพยพของพันธุ์ปลาเป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านริมฝั่งโขง เผยด้วยว่า ต้นไคร้น้ำ ที่ขึ้นตามเกาะแก่ง แห้งตายจำนวนมาก ตลอดระยะทางตั้งแต่ อ.เชียงคาน-ปากชม จ.เลย ลงไปถึง อ.สังคม จ.หนองคาย
- 29 ต.ค. 2562 เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการ และมีการขยายสัญญาการซื้อไฟฟ้า จาก 29 ปี เป็น 31 ปี
- 14 ก.พ. 2563 หลังเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากการรับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี โดยเป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่ชี้ให้เห็นว่า การผลิตไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และระบบนิเวศอย่างหนัก ตั้งแต่พรมแดนลาว จาก อ.เชียงคาน จ.เลย ไปจนถึง จ.นครพนม และอุบลราชธานี
มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมและขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและให้ศาลมีคำสั่งระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยเร็ว และนำส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่กำลังเกิดใหม่
- 3 พ.ค. 2565 ศาลปกครองสูงสุด นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการแถลงคดีมีความเห็นให้ ‘ยกฟ้อง’
ชาวบ้านจาก 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เดินทางไปที่ศาลปกครองสูงสุด เพื่อการพิจารณาคดีนัดแรก เมื่อ 3 พ.ค. 2565 (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)
- 17 ส.ค. 2565 ศาลปกครองสูงสุด ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น โดยใช้คำว่า ‘ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล’