วันที่ 16 มกราคม 2566 ที่จังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเป็นประธานเปิดกิจกรรมประชุมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดนครพนมที่จังหวัดนครพนมได้มีการอนุมัติให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม ร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( Geographical Indications : GI ) ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เพื่อขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของจังหวัดนครพนม
นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการสร้างการเจริญเติบโตจากภายในประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในท้องถิ่น รวมถึงการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการผลักดันให้สินค้า GI เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเดิมจังหวัดนครพนมมีสินค้า GI 2 ตัว คือ ลิ้นจี่นครพนม ซึ่งเป็นพันธุ์ นพ.1 และสับปะรดท่าอุเทน แต่ด้วยศักยภาพของสินค้าเกษตรจังหวัดนครพนมยังมีอีกหลายตัวดังนั้นคณะกรรมการขับเคลื่อนและบริหารจัดการสินค้าส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จังหวัดนครพนม จึงได้มีการเสนอขอขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มเติมอีก 7 สินค้า คือ ครกดินเผาบ้านกลาง ผลิตภัณฑ์จากกกบ้านเหล่าพัฒนา มันแกวน้ำก่ำธาตุพนม ผ้ามุกนครพนม อุเรณู ข้าวน้ำย้อยและข้าวปุ้นเรณู โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยนครพนมร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการในการดำเนินการศึกษาและส่งเสริมให้สินค้าของจังหวัดนครพนมให้ได้รับการยื่นจดทะเบียน GI เพิ่มเติม
ผศ.ดร.กัญลยา มิขะมา รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาศักยภาพของสินค้าทั้ง 7 ที่ทางจังหวัดเสนอมาทางมหาวิทยาลัยได้มีการส่งต่อข้อมูลที่ศึกษาไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ช่วยพิจารณาว่าศักยภาพของสินค้าตัวไหนที่สามารถไปต่อได้ในแง่ของมาตรฐาน GI และได้เรียงลำดับมาให้ว่าตัวไหนบ้างมีความเป็นไปได้ จึงได้มีการคัดเลือกสินค้าที่จะดำเนินการขอรับการขึ้นทะเบียนใน 3 สินค้า คือครกดินเผาบ้านกลาง ผลิตภัณฑ์จากกกบ้านเหล่าพัฒนา มันแกวน้ำก่ำธาตุพนม โดยที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนทุนของชุมชนเพื่อไปสู่การเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ในระดับมาตรฐาน GI ซึ่งรอบนี้จะเป็นการยกร่างคำขอขึ้นทะเบียน GI ซึ่งจะร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนและผู้แทนจาก 3 สินค้าที่กล่าวมาข้างต้นที่จะมาร่วมกันยกร่างคำขอขึ้นทะเบียน GI และถ้าผ่านก็จะมีการดำเนินการยื่นขอใช้ตราสัญลักษณ์ตามลำดับต่อไป
ด้านนายปฏิพัทธ์ ปานสุนทร กองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการพิจารณาสินค้า ก็เป็นนโยบายของทางรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการคุ้มครองสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมสินค้า GI เป็นอย่างดี โดยจากการลงพื้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดูถึงเอกลักษณ์ของสินค้ามีความเป็นมาอย่างไร มีจุดเด่นตรงไหน ประวัติความเป็นมาอย่างไร ยาวนานแค่ไหน แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร เบื้องต้นจึงมีการพิจารณา 3 สินค้าเป็นตัวนำร่องในรอบนี้ก่อนโดยสินค้าตัวอื่น ๆ ก็ยังมีโอกาสอยู่ และถ้ามีการยื่นขอไปแล้วกรมทัพย์สินทางปัญญาจะมีการดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อกฎหมายไม่มีอะไรแก้อีกกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะขึ้นทะเบียนให้ จากนั้นทางจังหวัดต้องมีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพของผู้ผลิตที่จะเข้าเกณฑ์สินค้า GI เหล่านั้น แล้วดำเนินการยื่นขอใช้ตรา GI ต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดน่าจะไม่เกิน 1 ปีก็จะได้สิทธิ์ติดตรา GI ได้
ภาพ/ข่าว ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าว จ.นครพนม