“ให้ระลึกถึงความดีของเขา เพราะแต่ละคนย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดีอยู่ในตัว ถ้าหาความดีไม่ได้จริงๆ ก็ให้นึกสงสารเขาว่าต่อไปจะต้องประสบผลร้าย จากการประพฤติไม่ดีอย่างนี้” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
“หลวงปู่แพงตา เขมิโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่วีรธรรม อ.ปลาปาก จ.นครพนมพระเกจิชื่อดัง จัดสร้างวัตถุมงคลเอาไว้ 3 รุ่น หนึ่งในนั้นเป็นเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2516 พระมหาวินิตย์ ทันตจิตโต หลานชาย ที่จำพรรษาที่วัดไทยในนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา จัดสร้างขึ้นเพื่อนำเงิน รายได้สร้างศาลาการเปรียญวัดประดู่ วีรธรรม
ลักษณะเป็นเหรียญอาร์ม มี หูห่วง ด้านหน้า มีรูปเหมือนหลวงปู่แพงตาครึ่งองค์ สันขอบเส้นนูนสองชั้น ด้านล่างสลักชื่อ “หลวงพ่อแพงตา เขมิโย” ด้านหลัง ตีเส้นขอบล้อมเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์ป้องกันภยันตราย ด้านล่างระบุ “วัดประดู่วีระธรรม ๑ ธ.ค. ๒๕๑๖” ปัจจุบันบรรดา นักนิยมสะสมพระเครื่องต่างนิยมเก็บไว้ ในครอบครอง
“พระศรีอริยเมตไตรย” ประดิษฐานอยู่ที่วัดไลย์ ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี วัตถุมงคลรูปพระศรี อริยเมตไตรย สร้างขึ้นมาหลากหลายรุ่น นับแต่ปี พ.ศ.2460 ที่ได้สร้างเหรียญปั๊มพระศรีอาริย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่ หลวงพ่อสุ่น พุทธสโร เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2432-2471)
แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เหรียญปั๊มพระศรีอาริย์ ปี พ.ศ.2467 ลักษณะเป็นพิมพ์รูปใบเสมา มีหูในตัว ขนาดเหรียญกว้างประมาณ 2.2 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เซนติเมตร
ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปพระศรีอาริย์ประทับนั่งเหนืออาสนะตั่งสามขา มีอักษรไทยเบื้องล่างเหรียญว่า “ที่ระฤก พระศรี อาริย วัดไลย์” ใต้หูเหรียญมีอักขระขอมว่า“พุท ธะ สัง มิ” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์สี่เหลี่ยมขมวดมุม แบ่งตารางเป็น 25 ช่องบรรจุอักขระขอมเอาไว้ ใต้ยันต์เป็นปีที่สร้างเหรียญ คือ “พ.ศ.2467” นับเป็นเหรียญที่มีพุทธลักษณะงดงาม
“หลวงปู่สาย เขมธัมโม” เจ้าอาวาสวัดป่าพรหมวิหาร บ้านภูศรีทอง ต.โนนเมือง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เคยสร้าง วัตถุมงคลที่มีความโดดเด่นเพียง 3 รุ่น คือ เหรียญโล่ พ.ศ.2548, เหรียญรูปไข่ รุ่นสร้างเจดีย์ พ.ศ.2549
โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นหยดน้ำ พ.ศ.2536” ไม่มี หูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงปู่สาย นั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านล่างมีข้อความ “รุ่น ๑” ถัดลงมาข้อความ “หลวงปู่สาย เขมธมฺโม” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นรูป เครื่องอัฐบริขาร บาตร กาน้ำ กลด ด้านบนมีข้อความ “วัดป่าพรหมวิหาร” ด้านล่าง เขียนคำว่า “อ.โนนสัง จ.อุดรธานี” (จัดสร้างสมัยโนนสัง ยังเป็นอำเภอใน จ.อุดรธานี) กลายเป็นวัตถุมงคลที่เสาะหา
อริยะ เผดียงธรรม