สยามรัฐออนไลน์
17 กุมภาพันธ์ 2564 20:36 น.
การศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลง “โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Social Innovation Driving Unit) หรือ SID-ESAN” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวต้อนรับ นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และผู้เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุม 500 ที่นั่ง ชั้น 3 อาคารปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม ประธานโครงการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การสร้างรายได้ การยกระดับการแข่งขันของสินค้าชุมชนเข้าสู่ระดับสากล ให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ย่างยั่งยืน จึงได้จัดโครงการฯ นี้ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อเสนอรูปแบบนวัตกรรมสังคม ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างนวัตกรรมด้านสังคมผ่านการบ่มเพาะ และให้คำปรึกษา ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง เพื่อไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมไปแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องเป็นผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในกลุ่มจังหวัดภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ตลอดจนสร้างหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม และเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมให้สามารถทำงานเชิงบูรณาการ สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาค ในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาสังคมนั้น อาจจะเป็นกระบวนการ เครื่องมือ การดำเนินงาน หรือสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สังคมดีขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคม โดยไม่จำกัดขอบเขตหรือความหมายในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีปรัชญา และนโยบายในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนและท้องถิ่น โดยกำหนดยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และบริการวิชาการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพ พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC จังหวัดมหาสารคาม และได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ฯ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมผ่านการวิจัย พัฒนา ลงทุน แปรรูปและบริหารจัดการในเชิงพาณิชย์ต่อไป