น.ส.กัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ หรือ (tomato leafminer) เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และจัดว่าเป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายร้ายแรงในการผลิตมะเขือเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการรายงานพบการระบาดของหนอนชนิดนี้ สำหรับวงจรชีวิตของผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน และมีการเพิ่มจำนวนประชากรในปีหนึ่งสูงถึง 10-12 รุ่น ไข่มีขนาดเล็กเป็นฟองเดี่ยวอยู่ใต้ใบพืช ตา ลำต้น หรือขั้วผล มีระยะไข่ 4-6 วัน หนอนมี 4 วัย จะชอนไชกัดกินในใบพืช หรือเจาะเข้าไปกินในผล เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่จะทิ้งตัวเพื่อเข้าดักแด้อยู่ในดินหรือเข้าดักแด้ในส่วนที่แห้งของพืช ระยะดักแด้ 7-10 วัน จึงออกมาเป็นตัวเต็มวัยเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป และในส่วนของการอยู่อาศัยมีพืชอาหารมากกว่า 20 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์มะเขือ ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือยาว โทงเทง พริก พริกหยวก มันฝรั่ง และพืชวงศ์อื่นๆ เช่น ผักโขม ผักบุ้ง บีทรูท เป็นต้น
หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะพืชวงศ์มะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ รวมทั้งวงศ์ถั่ว และกะหล่ำ โดยการกัดกินชอนไชใบ ลำต้น และผล ทำให้ผลผลิตลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จากสถานการณ์ระบาดอย่างรวดเร็ว และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในแหล่งปลูกมะเขือเทศหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้และทวีปยุโรป รวมทั้งเริ่มพบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศในทวีปเอเชียแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นแมลงที่ต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชทำให้การป้องกันกำจัดยาก และเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดสูงตามไปด้วย
ลักษณะสำคัญของผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ จะมีลำตัวยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร มีหนวดแบบเส้นด้าย สีดำสลับสีเหลือง มีความยาวมากกว่าครึ่งลำตัว ริมฝีปากด้านล่าง หงายขึ้นด้านบน ปีกคู่หน้าเรียวยาว เกล็ดปีกสำดำสลับสีเหลือง ปีกคู่หลังไม่มีลวดลายและมีขนยาว ปลายปีกเรียวแหลม ส่วนการเข้าทำลายจะเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น โดยหนอนเจาะทำลายผล และใบมะเขือเทศ ในระยะต้นอ่อนทำให้ต้นพืชตาย ระยะต้นแก่จะทำลายใบ และผลมะเขือเทศจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งถ้าหากรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด
การป้องกันกำจัดผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ แบบผสมผสาน ในขั้นตอนของการเตรียมดิน ให้ไถพรวนและตากดิน เพื่อกำจัดระยะดักแด้ที่อยู่ในดิน ทำความสะอาดโรงเรือนและวัสดุปลูก เพื่อกำจัดดักแด้ที่ติดอยู่ภายในวัสดุปลูก และเมื่อมีการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วให้เผาทำลาย ฝังกลบต้นพืช เพื่อกำจัดแมลงมี่ยังตกค้างอยู่ในต้นพืช ในระยะก่อนปลูกให้ใช้ต้นกล้าและวัสดุปลูกที่ปราศจากหนอนชอนใบมะเขือเทศ และหลังปลูกลงในแปลงไปแล้วหมั่นสำรวจแปลงปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกโดยสังเกตรอยทำลายบนต้นพืชหรือใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองหรือกับดักฟีโรโมน 3-4 กับดักต่อไร่ เมื่อพบตัวผีเสื้อบนกับดัก 3-4 ตัวต่อกับดักต่อสัปดาห์ให้ติดตั้งกับดักฟีโรโมน ดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้ 6-8 กับดักต่อไร่ เพื่อลดประชากรผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ แนะนำให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์
โดยการพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทรูริงเยน และเมื่อพบการแพร่ระบาดในระยะเริ่มต้นควรพ่นสารชีวภัณฑ์ในช่วงเย็น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และหากพบว่ามีการระบาดที่รุนแรง ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และอีกวิธี คือ การปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของหนอนชอนใบมะเขือเทศเพื่อตัดวงจรการระบาดเพิ่มขึ้น
สำหรับในพื้นที่ จ.นครพนม มีอำเภอที่มีการปลูกมะเขือเทศ เช่น อ.ปลาปาก อ.ธาตุพนม และอ.บ้านแพง เป็นต้น แม้จะยังไม่มีรายการพบการระบาดในพื้นที่ แต่ได้มีการเตรียมการในการสร้างการรับรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 12 อำเภอ เพื่อดำเนินการติดตามและลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการเข้าทำลายของผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศในจังหวัด หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ สามารถเข้าไปติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน