“รอง ปธ.สภาฯ” ปลื้ม งานกิจกรรม “กัญชา” แห่งแรก จ.นครพนม คนแห่ร่วมงานล้นหลาม มีผู้คนสนใจร่วม MOU ซื้อกัญชาอย่างคับคั่ง
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกิจกรรมเตรียมความพร้อมการเปิดตลาดกัญชาชุมชนจังหวัดนครพนมแห่งแรก ของเขตสุขภาพที่ 8 ศรีสงคราม มหานครแห่งกัญชา ซึ่งจัดขึ้นที่ หนองแคนช้าง ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
โดย นายศุภชัย กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่มาให้องค์ความรู้ในด้านกัญชาและการปลูกกัญชา อาทิ นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม, นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 และถือว่ากิจกรรมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเจ้าของธุรกิจร้านค้า ภัตตาคาร ทั้งที่มาจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัด หรือภายใน จ.นครพนมเอง โดยคาดไม่ถึงว่าจะได้รับความสนใจมากขนาดนี้ อีกทั้งได้ทำ MOU รับซื้อใบกัญชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งและที่สำคัญ คือ พี่น้องประชาชนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ได้เข้าใจในนโยบายของพรรคภูมิใจไทย เข้าใจในทิศทางว่าจะต้องเดินไปในแนวทางอย่างไร อีกทั้งประชาชนที่มาร่วมงานก็เข้าใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมากขึ้น
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาบรรยายเพิ่มเติมอีกด้วย และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีประชาชนให้ความสนใจทำ MOU ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดเศรษฐกิจใหม่ ในฐานรากให้กับพี่น้องประชาชน
“ผม สสจ. สสอ. และผู้ตรวจฯ ได้ตกลงกันแล้วว่า ในเร็วๆนี้จะเชิญ ผอ.รพ.สต. มาประชุมจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจ โดยจะมีการเชิญผู้อำนวยการสถาบันกัญชา ผู้ตรวจฯ และวิทยากร มาร่วมประชุมเพื่อที่จะได้ให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันก่อน และร่วมจดทะเบียน โดยได้มีการประสานงานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วว่า หนึ่ง รพ.สต. จะต้องมีโรงเรือน 1 โรงเรือนในการปลูกกัญชา ทางการแพทย์ อย่างน้อยทุก รพ.สต.จะต้องมีวิสาหกิจชุมชนมาทำ MOU ไม่น้อยกว่า 1 วิสาหกิจ โดยจะมีการนำเกษตรจังหวัด มหาวิทยาลัยนครพนม จะมาดูแลในภาควิชาการ ดูแลเรื่องดิน เรื่องการปลูก การสร้างโรงเรือน ซึ่งก็จะมาช่วยเสริมกัน เรื่องการกำจัดศัตรูพืช เพลี้ย หรือแมลงต่างๆ ที่ชอบมากินพืชเหล่านี้ เพราะเราไม่ใช้สารเคมี ก็จะมีนักวิชาการเข้ามาช่วยแนะนำ ประกอบกับมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดำเนินการจัดการอย่างดี” นายศุภชัย กล่าว