เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้หลายพื้นที่อาจประสบปัญหาทั้งภัยแล้ง รวมถึงสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค้าขาย ทำให้รายได้ลดลง แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านอาชีพแปลก บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม กว่า 300 ครอบครัว นับเป็นหมู่บ้านอาชีพสุดแปลกที่เดียวในไทย ที่ยึดอาชีพแปลกมานานกว่า 20-30 ปี
โดยในช่วงเข้าฤดูร้อนเป็นโอกาสทองที่จะสร้างรายได้จากอาชีพแปลก เพราะเป็นฤดูกาลทำเงินจากอาชีพ จับตุ๊กแกมาแปรูป ตากแห้ง ส่งออกขายต่างประเทศไปจีน ไต้หวัน หลังสิ้นสุดฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาการจับไส้เดือนแปรรูปขาย
เมื่อ สิ้นสุดฤดูร้อน เข้าฤดูฝน จะเป็นช่วงฤดูกาลของอาชีพแปรรูป ปลิงตากแห้ง จะมีอาชีพแปลกหมุนเวียน ตลอดปี สร้างรายได้ สะพัดปีละกว่า 100 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ ถึงแม้จะเจอสถานการณ์โควิด ยังสามารถสร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัด บางครอบครัวสร้างรายได้เดือนละ 50,000-100,000 บาท
สำหรับใน ช่วงฤดูร้อน จะเป็นฤดูกาลของ ตุ๊กแกแปรรูปตากแห้งส่งออก โดยชาวบ้านจะไปล่าตุ๊กแกตามบ้านเรือน เนื่องจากตุ๊กแก มี 2 ประเภท ตุ๊กแกในป่า จะเป็นตุ๊กแกที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนตุ๊กแกที่ขยายพันธุ์โตตามบ้านเรือนไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
หลังจากมีชาวบ้านไปจับมาขาย จะมีพ่อค้ารับซื้อตุ๊กแกสด ทั้งในพื้นที่ และมาจากต่างจังหวัด ในราคาตัวละ ประมาณ 40-50 บาท แล้วแต่ขนาด จากนั้นจะนำมาชำแหละเอาเครื่องในออก และนำมาแปรรูป ก่อนนำมาขึงตามไม้แบบที่ทำจากไม้ไผ่ เพื่อให้หนังตุ๊กแกตึงได้แบบมาตรฐาน และมีครบทุกส่วน ทั้งหัว ขา ลำตัว และหาง จะต้องยังอยู่ครบ เพราะจะทำให้ได้ราคาดีกว่าสภาพที่ไม่ครบทุกส่วน
จากนั้นจะนำไปย่างลมควันให้แห้ง ไม่ให้เกิดความชื้น ก่อนนำส่งขายให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ในราคาตัวละ 80-100 บาท แล้วแต่ขนาดของตุ๊กแก มีออเดอร์รับไม่อั้น ส่งออกไปขายต่างประเทศ ปลายทางไปจีน ไต้หวัน เชื่อว่านำไปทำยาชูกำลัง ตามความเชื่อ
นางนพมาศ วงษาเนาว์ อายุ 38 ปี ชาวบ้านตาล ที่ยึดอาชีพแปปลก ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ยึดถืออาชีพแปลกตามฤดูกาลมานานกว่า 20-30 ปี เริ่มจากมีคนริเริ่มทำอาชีพเพียงไม่กี่คน เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว จากนั้นเห็นว่ามีรายได้ดี จึงขยายฝึกเป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน และมีอาชีพแปลกหมุนเวียนตามฤดูกาลตลอดทั้งปี
นางนพมาศกล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นไส้เดือนแปรรูปตากแห้ง ฤดูฝนจะเป็นปลิงตากแห้ง ส่วนในฤดูร้อน จะเป็นตุ๊กแกแปรรูปตากแห้ง ซึ่งในช่วงฤดูอื่นจะที่ไม่ใช่ช่วงของฤดูกาลตุ๊กแก จะเป็นช่วงที่ให้มีการขยายพันธุ์ ส่วนตุ๊กแก ที่นำมาแปรรูป ส่วนใหญ่จะจับมาตามบ้านเรือน ที่มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ มีพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านรับซื้อไม่อั้น สร้างรายได้ดีพอสมควร
นางนพมาศกล่าวอีกว่า ถึงจะมีสถานการณ์โควิด แต่ยังไม่กระทบ เพราะยังสามารถส่งออกได้ บางครอบครัว ขยัน สามารถสร้างรายได้ครอบครัวละ 50,000 บาท ถึงหลักแสน ที่สำคัญยังสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในหมู่บ้านครบวงจร เพราะบางคนมารับจ้างแปรรูป เป็นรายวัน สร้างรายได้ พอหมดฤดูร้อนจบจากอาชีพตุ๊กแก จะไปล่าปลิงมาแปรรูปขาย