กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้สนองแนวพระดำริ ผ่าน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” จัดกิจกรรมโครงการประกวดผ้าลายขอพระราชทานฯ และจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ 8 ครั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานการทอผ้า รวมทั้งสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ของไทย โดยนำทีมกรรมการและที่ปรึกษาโครงการฯลงพื้นที่
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นำทีมที่ปรึกษาและกรรมการโครงการฯ พบปะศิลปินช่างทอผ้าจาก 3 จังหวัดอีสานตอนกลาง ได้แก่ สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ โดยกิจกรรมจัดขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดสกลนคร มีนายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและประธานกรรมการการตัดสินในระดับภูมิภาค นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้ร่วมชี้แจง กติกาสำคัญ รางวัล และกำหนดการโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานฯ
ตลอดจนมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การย้อมสีธรรมชาติไหมไทยพันธุ์พื้นบ้าน” และ “การเข็นฝ้ายแบบโบราณ” โดยเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม ในการอบรมยังมีศิลปินช่างทอผ้ารุ่นเก่าของสกลนคร ที่ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านย้อมสีธรรมชาติและผลิตผ้าครามได้เข้าร่วมอบรม ศิลปินช่างทอผ้าจากบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แรกที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในปี 2513 ซึ่งศิลปินช่างทอผ้าของบ้านท่าเรือที่เคยเป็นผู้ชนะเลิศโครงการประกวดทอผ้าของโครงการศิลปาชีพฯ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ พร้อมกับแสดงความดีใจที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฟื้นฟูโครงการประกวดผ้าขึ้นมาอีกครั้ง
ครั้งที่ 2 จัดขึ้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน ครร2564 มีนายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และคณะกรรมการได้เดินทางไปพบศิลปินช่างทอผ้าที่บ้านโคกล่าม อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากศิลปินช่างทอผ้าในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชัยภูมิ สกลนครศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ มีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยนายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสารโว้กประเทศไทย เรื่อง “คอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย” โดยนายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง ASAVA Group และนายสธน ตันตราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น เรื่อง “คุณภาพเส้นใย ไหมพันธุ์ไทย ฝ้ายพื้นเมือง” โดยนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH และเรื่อง “การสร้าง Story Telling และ Packaging” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน และ ดร.กรกลด คำสุข จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
สำหรับบ้านโคกล่ามเป็นหมู่บ้านย้อมสีธรรมชาติที่ยังใช้ไม้มงคลในการย้อมผ้าอย่างขนุน คูน ยอ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ มีศิลปินช่างทอผ้าเข้ามาร่วมรับฟังจากหลายจังหวัด ดังนั้นคณะกรรมการโครงการประกวดฯ จึงเห็นความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะมองหาศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ที่สืบสานองค์ความรู้การทอผ้าไทยสืบต่อไป
ส่วนการอบรมครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ บ้านหัวฝาย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด มีศิลปินช่างทอผ้าจากจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และชัยภูมิเข้าร่วม สำหรับจังหวัดขอนแก่นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของการทอผ้าในประเทศไทย ที่สร้างมูลค่าให้แก่การทอผ้าได้หลายพันล้านบาทต่อปี มีผู้เชี่ยวชาญและศิลปินช่างทอฝีมือดีหลายคนที่เคยส่งผ้าเข้าประกวดในโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งบางคนได้เลิกทอผ้าไปแล้วในปัจจุบัน แต่มีความกระตือรือร้นที่จะกลับมาทอผ้าส่งเข้าประกวดอีกครั้ง
การอบรมทั้ง 3 ครั้ง ได้รับความสนใจอย่างมาก มีการตั้งคำถามและนำผ้าทอตัวอย่างมาให้ชม พร้อมทั้งเล่าถึงความตั้งใจในการทอผ้าเพื่อส่งเข้าประกวด ศิลปินช่างทอผ้าหลายคนมีความมุ่งหวังที่จะคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อทราบว่า รางวัลชนะเลิศเป็นเหรียญทองที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะพระราชทานแก่ผู้ชนะการประกวดในพิธีเปิดงาน OTOP CITY ประจำปีนี้ และออกแบบโดย นายศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินวาดภาพผู้มีชื่อเสียง
ทั้งนี้ ผู้สนใจส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวด สามารถส่งใบสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทั่วประเทศ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 และสามารถส่งผ้าเข้าประกวดได้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 โดยโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานฯ จะดำเนินการตัดสินตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานฯ ติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชน ทุกจังหวัดหรือที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือติดต่อได้ที่เพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยหากมีคำถามหรือต้องการจะแสดงรูปผลงานผ้าทอ โปรดใส่แฮชแท็ก #ผ้าไทยใส่ให้สนุก #phathaisaihaisanook นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มช่องทางติดต่อทาง LINE Official Account “@saihaisanook” และทาง QR Code สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่จังหวัดลำพูน อุทัยธานี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ผู้ที่สนใจจะร่วมกิจกรรมสามารถติดตามข้อมูลได้จากเพจดังกล่าว