“เอนก” มั่นใจคุมโควิด-19 ได้ หลัง รพ.สนามสังกัด อว.รายงานผู้ป่วยทยอยกลับบ้าน แต่หลายจังหวัดยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่ง เร่งผุด รพ.สนามรองรับทั่ว “นครพนม” เตรียมลงดาบผู้ใหญ่บ้านหญิง รู้แล้วไปที่สุ่มเสี่ยงแต่ไม่ปฏิบัติตัวเป็นเยี่ยงอย่างจนกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อให้ลูกหลาน พร้อมฟันสถานบันเทิงเปิดให้เด็กเข้าไปใช้
เมื่อวันพุธที่ 21 เมษายน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละจังหวัดเพื่อรองรับผู้ป่วย โดยที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)? และคณะ ได้ตรวจเยี่ยม รพ.สนามในสังกัด
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกกล่าวหลังการตรวจเยี่ยมว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า อว.ได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะมหาวิทยาลัยมีความพร้อมมากมาย ทั้งบุคลากร ทั้งอาคารสถานที่ ในยามวิกฤติก็พร้อมจะรวมพลังกันออกมาช่วยรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง ซึ่งมาถึงขณะนี้ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ยอดติดเชื้อได้ทรงตัวและเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากโรงพยาบาลสนามในสังกัด อว.หลายแห่งว่ามีจำนวนผู้ป่วยหายดีและทยอยเดินทางกลับบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่าวิตกกังวล รับคนหายป่วยกลับบ้าน กลับชุมชน กลับหมู่บ้าน ตำบล และมั่นใจว่าแม้สถานการณ์จะยากลำบากเพียงใด พวกเราก็จัดการได้
ส่วนที่ จ.พิษณุโลก พบมีผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่อีก 10 ราย ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 191 ราย ซึ่งผู้ป่วยอาการเบา ก็จะกระจายไปตามโรงพยาบาลสนามที่จังหวัดเตรียมไว้กว่า 500 เตียง ขณะเดียวกันก็มีภาคเอกชนร่วมใจกันบริจาคทั้งเงินในการจัดตั้ง รพ.สนาม รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
จ.พระนครศรีอยุธยา ยังพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มอีก 22 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมอยู่ที่ 225 คน และรักษาหายขาดแล้ว 62 คน และยังต้องรักษาตัวใน รพ.อีก 163 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้พบว่าบางคนติดเชื้อจากตลาดกลางเพื่อเกษตรกร หรือติดเพราะไปร่วมงานเลี้ยง และบางคนไปติดจากคนในครอบครัว หรือได้ไปสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจากตลาดแล้ว 31 ราย จังหวัดจึงจะมีการตรวจซ้ำในตลาดอีกครั้งในวันที่ 23 เม.ย. เพื่อเร่งควบคุมการแพร่กระจายให้อยู่ในวงจำกัด โดยขณะนี้จังหวัดได้เปิดใช้ รพ.สนามขนาด 120 เตียง ตรงหอประชุมใหญ่ ภายใน ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตราแล้ว
ส่วนที่ จ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในทุกพื้นที่ของจังหวัดเพิ่มเติม อาทิ สถานรับเลี้ยงเด็ก ยกเว้นสถานรับเลี้ยงเด็กแบบอยู่ประจำ, สวนน้ำ, สนามเด็กเล่น, สวนสนุก, โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม จำนวน 32 ราย รวมมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 328 ราย รักษาหาย 8 ราย ยังรักษาอยู่ 320 ราย โดยมีอำเภอเพิ่มขยับขึ้นเป็น 22 อำเภอ จาก 32 อำเภอ และได้มีการสั่งปิดหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 2 อำเภอ ประกอบด้วย บ้านตะเคียน และบ้านตะเคียนเหนือ ตำบลตะเคียน อ.ด่านขุดทด มีประชากรประมาณ 500 หลังคาเรือน และบ้านหนองกอก ต.โคกกลาง อ.ประทาย มีประชากรประมาณ 200 หลังคาเรือน โดยจะปิดตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.-4 พ.ค. เป็นเวลา 14 วัน
จ.ขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 21 ราย ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 248 ราย ส่วนการจัดตั้ง รพ.สนามแห่งที่ 2 ภายในพุทธมณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ บ้านเต่านอ ต.ศิลา อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่นนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 %
ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ขอนแก่นติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 คนนั้น ได้มีการให้แพทย์และพยาบาลที่ใกล้ชิดเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว 113 คน จำนวน 14 วัน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์งดเยี่ยม ปิดหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 1 หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 1 และหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤติ 1 และขอความร่วมมือโรงพยาบาลเครือข่ายงดส่งต่อผู้ป่วยในรายที่ไม่จำเป็น เกลี่ยกำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่เหลืออยู่คอยให้บริการประชาชน
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมคณะได้แถลงตัวเลขผู้ป่วยใหม่ว่า มีเพิ่มอีก 7 ราย โดยแยกเป็นชาย 4 หญิง 3 อายุสูงสุด 56 ปี ต่ำสุด 2 ขวบ เป็นเพศชายทั้งคู่ รวมยอดขณะนี้จังหวัดมีผู้ป่วยสะสม 59 ราย ทั้งนี้ จากการสอบไทม์ไลน์ของเด็กชายอายุ 2 ขวบที่ติดเชื้อ พบว่าติดมาจากผู้ป่วยรายที่ 48 เพศหญิงอายุ 55 ปี ที่เป็นผู้ใหญ่บ้านที่เดินทางไปอบรมหลักสูตรผู้ใหญ่บ้านที่กรุงเทพฯ โดยมีลูกเขยกับลูกสาวมารับไปนอนบ้านอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง หลังอบรมเสร็จก็ขับรถมาส่งแม่ที่อำเภอธาตุพนม ที่น่าตกใจคือผู้ใหญ่บ้านหญิงคนนี้รู้อยู่แล้วว่ามาจากพื้นที่เสี่ยง แทนที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกบ้าน ด้วยการไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อและกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน กลับไปไหนต่อไหนทั่วหมด หลังจากนี้จะสอบสวนทางวินัยผู้ใหญ่บ้านรายนี้ เพราะเป็นตัวการแพร่เชื้อทำให้ลูกชาย ลูกสาว และหลานชายวัย 2 ขวบติดเชื้อกันทั้งบ้าน ขณะเดียวกันก็พบว่าอีก 1 รายเป็นติดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงชื่อดังของจังหวัด ซึ่งเป็นหญิงอายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 หลังสอบเสร็จได้ชวนเพื่อนราว 5-6 คน มาเลี้ยงฉลองที่ผับแห่งนี้ ที่แปลกใจคือทำไมสถานบันเทิงยอมปล่อยให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปได้อย่างไร แต่ตอนนี้มีแค่ไทม์ไลน์ของผู้ป่วย จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง หากพบว่ามีความผิดตามที่ผู้ป่วยอ้าง ก็จะใช้กฎหมายของ คสช.สั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานบันเทิงแห่งนี้เป็นเวลา 5 ปี
จ.สกลนครก็มีการร้องทุกข์กล่าวโทษกับบุคคลต่างๆ ที่ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัด กรณีการจัดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มาก ซึ่งศาลพิจารณาลงโทษทุกรายแล้ว รวมทั้งยังได้เอาผิดทางวินัยกับผู้ใหญ่บ้านที่ฝ่าฝืนคำสั่งจัด โดยได้ตัดเงินค่าตอบแทนผู้ใหญ่บ้าน 5% เป็นเวลา 1 เดือน
เพจสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีโพสต์ข้อความว่า หากพบเห็นผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือผู้ที่เสี่ยงสัมผัสสูงที่ถูกให้กักตัวแล้วไม่กักตัว 14 วัน ให้แจ้งสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ของท่าน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ผิด พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ส่วนที่ รพ.หนองคาย ได้มีการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 รอบแรกให้กับบุคลากรกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข สื่อมวลชน อาสาสมัครรักษาดินแดน อาสาสมัครกู้ภัย เป็นต้น ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ของจังหวัด ก็พบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ยอดสะสม 24 ราย ส่วนใหญ่เชื่อมโยงสถานบันเทิงและเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้
สำหรับพื้นที่ในภาคใต้ กรณีโลกโซเชียลแชร์ภาพกลุ่มพริตตี้ในอำเภอหาดใหญ่รวมตัวกันจัดเลี้ยงวันเกิดจำนวนกว่า 53 คน และมีการจับกุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. แต่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หาดใหญ่ 39 นายซึ่งเข้าไปจับกุมนั้นอาจเป็นเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะผู้จัดปาร์ตี้เป็นผู้ป่วย ล่าสุดผลตรวจเป็นลบคือไม่ติดเชื้อ
ขณะเดียวกัน นายอมร ชุมช่วย นายอำเภอกรงปินัง จ.ยะลา ได้ชี้แจงถึงกรณีการปิดหมู่บ้านกีเยาะว่า ไม่ได้มีการปิด เพียงแต่ตั้งด่านอำนวยความสะดวกและล็อกดาวน์บ้านที่มีความเสี่ยงแค่เพียง 3 หลังเท่านั้น
ส่วนบรรยากาศที่ด่านพรมแดนเบตง อ.เบตง จ.ยะลา มีแรงงานไทยที่ไปทำงานและอาศัยอยู่ในมาเลเซียกรณีวีซ่าหมดอายุและลักลอบอยู่แบบผิดกฎหมาย ซึ่งมาเลเซียผลักดันกลับเป็นวันสุดท้ายนั้น ต่างทยอยเดินทางกลับผ่านทางด่านพรมแดนเบตง จำนวน 49 คน ก็มีการคัดกรองอย่างละเอียดทุกคน เช่นเดียวกับที่ด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่มีแรงงานข้ามด่านมาทั้งสิ้น 68 คน ขณะเดียวกันก็ยังจับตาบุคคลที่มีหมายจับและมีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่อาจแฝงตัวปะปนกับชาวบ้านที่อาจลักลอบเข้าแดนเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้มีกว่า 200 คน
จ.ตรัง มีการตรวจความพร้อมของ รพ.สนามแห่งที่ 2 ที่รองรับผู้ป่วยได้ 25 เตียง ซึ่งขณะนี้จังหวัดได้วางแผนไว้ว่าจะมี รพ.สนาม 3 แห่ง แต่หากยังไม่เพียงพอก็พร้อมเปิด รพ.สนามแห่งที่ 4 ต่อไป เช่นเดียวกับที่ จ.พังงา ก็เร่งความพร้อมในการเปิด รพ.สนาม 46 เตียง หลังจากล่าสุดพบมีผู้ป่วยเพิ่มอีก 5 ราย ทำให้มียอดสะสมแล้ว 27 ราย
ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานีตำรวจภูธร และฝ่ายปกครอง ดำเนินการเข้มข้นในมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค โดยให้จัดชุดสายตรวจติดตามผู้ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรค เพิ่มความเข้มในการกักตัวสำหรับกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด นอกจากนี้ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบ ทั้งในส่วนของการสอบสวนโรค การตรวจหาเชื้อ และการรักษาผู้ป่วย โดยขอให้มีการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นจากประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 21 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่แล้วทั้งสิ้น 99 ราย.