สุดยอดเครื่องรางวัดกลางบางแก้ว‘เบี้ยแก้-หลวงปู่เพิ่ม’ ‘เหรียญที่ระลึกฉลองเจดีย์’คณะศิษย์หลวงปู่ทองสร้าง – “ทุกคนต้องพยายามช่วยตัวเอง ใครมีหน้าที่อะไร ใครเป็นข้าราชการ ก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ใครเป็นนักเรียนนักศึกษาก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ใครเป็นพระเป็นสงฆ์ก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ให้เป็นแนวทางที่จะช่วยตนเองให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้ เราก็อยู่ได้” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
“หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน” หรือ “พระพุทธวิถีนายก” วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ยอดพระเกจิเรืองนามเมืองเจดีย์ใหญ่ เครื่องรางเบี้ยแก้ สร้างตามตำรับหลวงปู่บุญ กรรมวิธีการจัดสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม ต้องไปจัดหาหอยเบี้ย 1 ตัว ปรอทน้ำหนัก 1 บาท ชันโรงใต้ดินกลางแจ้ง 1 ก้อน แผ่นตะกั่วขนาด 4 x 5 นิ้ว 1 แผ่น เอาของทั้งหมดใส่ถาด พร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปถวายแล้วท่านจะรับสิ่งของเอาไว้
จากนั้นจะเสกปรอทแล้วเทปรอทจากขวดใส่ฝ่ามือเรียกเอาปรอทใส่เบี้ย แล้วอุดด้วยชันโรงที่ปากหอย เอาแผ่นตะกั่วห่อหุ้มหอยเบี้ยที่กรอกปรอทเอาไว้ ใช้ด้ามมีดเคาะจนแผ่นตะกั่วแนบสนิทกับตัวหอย ขั้นตอนนี้ ใช้เวลานานประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จนกระทั่งแผ่นตะกั่วเรียบสนิทดี เมื่อหุ้มตะกั่วแล้วเสร็จลงจารอักขระบนตะกั่วที่ห่อหุ้มเบี้ยเอาไว้ บางรายเอาผ้าแดงผืนเล็กให้ลงยันต์ให้ด้วยก็มี พอท่านจารเสร็จก็จะปลุกเสกให้เป็นอันแล้วเสร็จ ปัจจุบันเบี้ยแก้หลวงปู่เพิ่มหายากยิ่ง
คณะศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่ทอง ปภากโร แห่งวัดบ้านคูบ อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ พระเกจิดังอีสานใต้ ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญที่ระลึกฉลองเจดีย์บูรพาจารย์ จัดหารายได้สมทบจัดงานฉลองและค่าใช้จ่ายอื่น จัดสร้างเป็นหลายเนื้อ
ลักษณะเป็นเหรียญอาร์ม หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญใต้หูเชื่อมมีดอกจัน ถัดลงมามีอักขระยันต์ประกบเหนือศีรษะ ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ห้อยลูกประคำ เหนือไหล่ขวาของเหรียญและอักษะตอกโค้ดเจดีย์มีอักษรตัว ท บรรทัดล่างสุดสลักตัวหนังสือคำว่า หลวงปู่ทอง ปภากโร ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเหรียญประดิษฐานเจดีย์บูรพาจารย์ มีอักขระ 5 ตัวประกบส่วนยอด โคนพระธาตุและใต้ฐาน ข้างองค์พระธาตุสลักตัวหนังสือแนวตั้งซ้ายขวาขอบเหรียญอ่านว่า ที่ระลึกฉลองเจดีย์ วัดบ้านคูบ จ.ศรีสะเกษ บรรทัดล่างสุดสลัก ๒๕๖๓ เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นที่มีอนาคต.
พระปรอท “หลวงพ่อซวง อภโย” วัดชีปะขาว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ท่านจัดสร้างพระปรอท ประมาณปีพ.ศ.2498 ตามตำรับโบราณที่ศึกษามาและยังปลุกเสกเดี่ยวเพิ่มเติมจึงเข้มขลังทรงพุทธาคม พระปรอทจะมีขนาดเล็ก ลักษณะเหมือนกลีบบัวหรือหยดน้ำ มีพิมพ์เดียวเท่านั้น ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปในท่านั่งสมาธิเต็มองค์ เหนืออาสนะบัวคว่ำบัวหงาย ด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขระใดๆ สร้างประมาณ 200 องค์เท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่กับผู้ที่คุ้นเคย ญาติโยมละแวกวัดในกิจนิมนต์ต่างๆ ปัจจุบันเป็นสุดยอดวัตถุมงคลที่หายาก
“หลวงปู่บุดดา ปัญญาธโร” วัดป่าใต้พัฒนาราม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว พระเกจิชื่อดัง จัดสร้าง “เหรียญเสมารุ่นสมปรารถนา” เพื่อจัดหาทุนทรัพย์ในการก่อสร้างอุโบสถหลังแรก ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหูเชื่อม จัดสร้างเป็นหลายเนื้อด้วยกัน ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหน้าตรง ด้านหลังตรงกลางเป็นอักขระยันต์ ใต้ยันต์เขียนคำว่า “หลวงปู่บุดดา ปัญญาธโร อายุ ๑๐๕ ปี วัดป่าใต้พัฒนาราม วัฒนานคร สระแก้ว” จัดเป็นอีกเหรียญที่ไม่ควรพลาด
ในยุค “หลวงพ่อน้อย คันธโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดศีรษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ในฐานะเจ้าตำรับ “พระราหูอมจันทร์” ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในเบญจภาคีสุดยอดเครื่องรางของขลังของไทย นอกจากนี้ หลวงพ่อน้อยยังสร้าง “พระโคสุลาภ” หรือ “วัวธนู” ที่เข้มขลังไม่แพ้กัน
วัวธนูของหลวงพ่อน้อยสร้างจากครั่งพุทราที่เกาะบนกิ่งพุทรา ซึ่งชี้ไปทางทิศตะวันออก การปั้นและปลุกเสกต้องทำให้เสร็จภายในฤกษ์ที่กำหนด ซึ่งฤกษ์ดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาในวันสำคัญที่กำหนดไว้เช่นกัน จึงนับได้ว่าวัวธนูที่มีขั้นตอนการสร้างที่ยากลำบากและซับซ้อนมาก มีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกัน หลักพิจารณาคือ ต้องมีน้ำหนัก ตึงมือ เนื้อแห้ง แน่นตัว เมื่อใช้กล้องส่องจะเห็นผงเปลือกพุทราผสมอยู่ทั่วตัวสีน้ำตาลอมแดง ผิวหยาบ บางตัวอาจมีปิดทองเก่าเดิมๆ ให้เห็นบางจุด
ในปีพ.ศ.2537 นายประวิทย์ เจียวิริย บุญญา นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนม และคณะลูกศิษย์กรุงเทพฯ และนครพนม ร่วมกันขออนุญาต “หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม จัดสร้างวัตถุมงคล เป็นเหรียญหลวงปู่คำพันธ์ รุ่นอภิมหาทรัพย์ (นั่งพาน) นำเงินราย ได้สมทบทุนจัดสร้างอาคารเรียน โรงเรียนตงเจี่ย จ.นครพนม
ลักษณะเป็นเหรียญคล้ายรูปทรงเสมา ไม่มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่คำพันธ์นั่งสมาธิเต็มองค์ ภายในวงเส้นวงกลมตามส่วนโค้งสลักคำว่า “พระสุนทรธรรมากร หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” ด้านล่างสุดสลักตัวหนังสือคำว่า “ฉลองครบอายุ 80 ปี” ด้านหลังเหรียญแบนราบ ใต้ห่วงมียันต์ตัวนะ ตรงกลางเหรียญมีลายเส้นเป็นดวงยันต์มหายันต์โบราณ ด้านใต้สลักตัวหนังสือคำว่า “อภิมหาทรัพย์” ประกบหัวท้ายด้วยยันต์ตัว “นะ” ถัดลงมาสลักคำว่า “พระธาตุมหาชัย นครพนม” ด้านล่างสุดมีตัวเลขระบุถึงนัมเบอร์เหรียญ ปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหา
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]