วันนี้ (3 พ.ย. 64) อิศเรศ (สงวนนามสกุล) จาก จ.นครพนม ขึ้นศาลสืบพยานคดี ม.112 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2559 ในประเด็นการประกาศแต่งตั้ง ร.10 ขึ้นครองราชย์หลังจากที่ ร.9 สวรรคต อิศเรศถูกจับกุมโดยตำรวจรถไฟเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ขณะเดินทางกลับบ้านที่ จ.นครพนม หลังเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ19กันยา ที่สนามหลวง
3 พ.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานผ่านทวิตเตอร์ว่าวันนี้ (3 พ.ย. 2564) ศาลจังหวัดนครพนมนัดสืบพยานคดีของอิศเรศ (สงวนนามสกุล) ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากในปี 2559 อิศเรศโพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการสรรคตของ ร.9 ซึ่งถือเป็นคดี ม.112 ระลอกใหม่ที่ศาลรับฟ้องและนัดสืบพยานเป็นคดีแรก วันนี้มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ จ.ส.อ.วรายุทธ สุวรรณมาโจ ทหารผู้กล่าวหา, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), ผู้ใหญ่บ้าน และทนายความ พร้อมกันนี้ นักกิจกรรมจากกลุ่มนครพนมสิบ่ทน ได้เดินทางมาให้กำลังใจอิศเรศที่ศาลอีกด้วย สำหรับคดีของอิศเรศ ศาลนัดสืบพยานเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 3-5 พ.ย. 2564
3-5พ.ย.ศาลนครพนมนัดสืบพยานคดี #ม112 #พรบคอม กรณีอิศเรศโพสต์แสดงความเห็นหลัง ร.9 สวรรคต เป็นคดี112ระลอกใหม่ที่ฟ้องและสืบพยานเป็นคดีแรก โดยมีนักกิจกรรม #นครพนมสิบ่ทน มาให้กำลังใจ
วันนี้มีพยานโจทก์เข้าเบิกความ5ปาก: ทหารผู้กล่าวหา-กอ.รมน.-ผญบ.-ทนาย
ดูข้อมูล https://t.co/gw1N4bod9C pic.twitter.com/GHpXcfgn65
— TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (@TLHR2014) November 3, 2021
คดี ม.112 ของอิศเรศเป็นการกระทำที่สืบย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีการแจ้งความเอาผิดและแจ้งจับกุมตัวอิศเรศในเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว โดยประชาไทเคยรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมยุษยชนเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของอิศเรศไว้ว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 อิศเรศเข้ารายงานตัวกับอัยการศาลจังหวัดนครพนมในคดีที่เขาถูกกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 ซึ่งอัยการจังหวัดนครพนมยื่นสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนม และศาลมีคำสั่งรับฟ้อง
คำฟ้องของศาลจังหวัดนครในคดีหมายเลขดำที่ อ.2188/2563 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ระบุว่าเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 อิศเรศโพสต์เฟซบุ๊กด้วยข้อความว่า
“ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลายศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศ รัชกาลที่ 10.. การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชม.ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”
ในคำฟ้องระบุอีกว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงจะไม่มีรัชกาลที่ 10 เพราะตกลงกันไม่ได้และจะมีศึกชิงตำแหน่งกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์จักรี เป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและอาจนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จำเลยได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กของจำเลยอันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย
อิศเรศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยื่นขอประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน คือ ใช้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและโฉนดที่ดินในวงเงินรวม 150,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ และได้รับการปล่อยตัวในเวลา 13.30 น. เนื่องจากต้องรอนายประกันที่เป็นผู้ใหญ่บ้านประชุมเสร็จ
แม้อิศเรศจะโพสต์ข้อความดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2559 แต่เขาเพิ่งถูกจับกุมโดยตำรวจรถไฟขณะนั่งรถไฟกลับบ้านที่ จ.นครพนม หลังจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 โดยตำรวจได้เดินจรวจบัตรประชาชนคนบนรถไฟจนกระทั่งมาถึงตัวเขาเมื่อเขาแจ้งชื่อกับตำรวจ ตำรวจก็แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดนครพนมและควบคุมตัวไป สน.นพวงศ์ เพื่อทำบันทึกจับกุมก่อนส่งตัวต้อให้กับตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุคุมตัวขึ้นรถจากกรุงเทพฯ ไป จ.นครพนม และถูกขังไว้ 1 คืน ก่อนเริ่มสอบปากคำในวันที่ 22 ก.ย. 2563 โดยมีมารดา พี่สาว และทนายความร่วมการสอบสวน
อิศเรศให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดนครพนมเพื่อฝากขังและถูกขังอยู่ 1 คืนก่อนที่พี่สาวจะยื่นคำร้องขอประกันตัวทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวมา โดยอิศเรศคิดว่าที่อัยการสั่งฟ้องเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำชับให้ใช้มาตรา 112 แต่เขาก็พร้อมสู้คดี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า คดีของอิศเรศเป็นคดีแรกที่มีการนำ ม.112 กลับมาใช้หลังจากไม่มีการใช้มาเป็นเวลา 2 ปี โดยเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ประกาศบังคับใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง และก่อนเกิดการใช้มาตรา 112 ระลอกใหม่กับผู้ชุมนุม ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าการฟ้องคดีอิศเรศเป็นไปตามนโยบายดังกล่าว