- Line
นครพนม – สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ตะลุยเทือกเขาภูลังกาสำรวจเส้นทางกราบนมัสการพระธาตุ นำเสนอพิจารณาบรรจุเป็นงานบุญประเพณีเดือนยี่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา ตั้งอยู่ ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม ว่า นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายณรงค์ ไชยตา ประธานที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมฯนครพนม และ นายสุรชาติ เลิศไพจิตร ประธานสภาวัฒนธรรม อ.บ้านแพง นำคณะสภาวัฒนธรรมฯตะลุยขึ้นไปยังเจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ หรือชาวบ้านนิยมเรียกว่าพระธาตุภูลังกา เพื่อสำรวจเส้นทางธรรมในการเดินขึ้นไปกราบนมัสการองค์พระธาตุดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่จุดสูงสุดบนยอดเขาภูลังกาคือ 563 เมตร และสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจากพื้นราบ โดยทางอุทยานฯได้มอบหมายให้นายศราวุธ จันทร์ผาย อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่ฯฝ่ายบริการนักท่องเที่ยวเป็นผู้นำทาง มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
ทั้งนี้ นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมฯนครพนม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าต้องการเดินขึ้นไปสำรวจเพื่อนำเรื่องราว ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนได้พบด้วยสายตามานำเสนอต่อจังหวัดฯ เพื่อบรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะเท่าที่ทราบจะมีประเพณีเดินขึ้นกราบพระธาตุภูลังกาเป็นประจำอยู่แล้ว จึงจะเขียนโครงการนำเสนอให้ทางจังหวัด พิจารณารับบรรจุเป็นงานบุญประเพณีประจำปี ซึ่งตนเห็นว่าเดือนที่เหมาะสมที่สุดอยู่ในช่วงเดือนยี่ตามจันทรคติ หรือตรงกับเดือนมกราคมตามสุริยคติ เป็นปลายฤดูหนาวที่เหมาะแก่การเดินขึ้นเขาเป็นอย่างมาก
การขึ้นไปกราบนมัสการพระธาตุภูลังกา ทางอุทยานฯลาดซิเมนต์เป็นช่วงสั้นๆ เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาสลับทับซ้อนถึง 3 ลูก สลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กซับซ้อนทอดยาวตามแนวแม่น้ำโขง สภาพทั่วๆไปมีความลาดชันเป็นระยะๆ บางจุดมีทางชัน 45 องศาหรืออาจมากกว่า บุคคลที่จะขึ้นไปยังที่ตั้งขององค์พระธาตุต้องมีศรัทธาอันแรงกล้าเป็นต้นทุน โดยระยะทาง 4 กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางราว 500 เมตรจะแลเห็นองค์พระธาตุสีทองผ่องอำไพ พอทำให้หายเหนื่อยได้ดีเชียว
เจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ หรือพระธาตุภูลังกา เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ผู้นำสร้างคือพระอาจารย์สมชาย ปุญญมโน เจ้าอาวาสวัดป่าสว่างบุญ ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยท่านเดินทางมาขึ้นภูลังกาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 เพื่อต้องการปลีกวิเวกภาวนา ซึ่งท่านได้ขึ้นมาพักบนภูกองข้าว เพราะหินกองเล็กๆตั้งเรียงขึ้น ลักษณะมีฐานเป็นหินก้อนใหญ่ตั้งเรียงขนาดลดหลั่นขึ้นไปจนถึงยอด คล้ายเป็นองค์เจดีย์ จึงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นพระธุดงค์ที่ขึ้นมาวิปัสสนากรรมฐานเป็นผู้เรียงหินเหล่านี้
เนื่องจากบนยอดเขาภูลังกาเป็นเสมือนธรรมสถานแห่งพระอริยะ ตำนานดินแดนสนามรบกิเลส แหล่งผลิตพระอริยสงฆ์หลายรูป เช่น หลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่เทสก์, หลวงปู่อ่อน, หลวงปู่สิม, หลวงปู่วัง, พระอาจารย์สมชาย, หลวงพ่อชา, พระอาจารย์โง่น, พระอาจารย์สีโห, พระอาจารย์วัน, พระครูอดุลธรรมภาณ เป็นต้น
ในคืนนั้นพระอาจารย์สมชายนิมิตว่ามีภูมิเทวดามาขอให้ช่วยสร้างเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยภูมิเทวดากล่าวว่าจะมีพรรคพวกมาช่วยสร้าง รุ่งขึ้นท่านได้เดินสำรวจบริเวณรอบๆพบถ้ำที่เหมาะแก่การเจริญวิปัสสนาจึงตั้งชื่อว่าถ้ำโพธิญาณ ในพรรษานั้นท่านจึงจำพรรษา ณ ถ้ำโพธิญาณจนถึงวันออกพรรษา ต่อมาได้ชักชวนชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ในละแวกเชิงเขา ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างพระธาตุ เริ่มลงมือสร้างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 แล้วเสร็จวันที่ 17 มกราคม 2543 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 59 วันเท่านั้น และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศเนปาล รวมทั้งพระอรหันต์ธาตุด้วย ใช้งบการก่อสร้างเป็นเงินจำนวน 1,104,097 บาท
นายศราวุธ จันทร์ผาย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ผู้นำทางคณะวัฒนธรรมฯได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พ่อแม่เป็นคนบ้านนาโพธิ์ ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม โดยกำเนิด ในปีที่ก่อสร้างนั้นตัวเองเพิ่งมีอายุได้ 16 ปี พ่อแม่ได้พามาช่วยกันก่อสร้างพระธาตุโดยไม่มีค่าแรงใดๆทั้งสิ้น โดยใช้รอกนำอิฐ หิน ปูน ทราย ขึ้นไปยอดภูลังกา รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างครั้งนี้ เพราะภายหลังกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชาของศาสนิกชน นักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็มีครอบครัวหนึ่งประมาณ 10 คนเดินทางมาจาก อ.คำตากล้า จ.สกลนคร หนึ่งในนั้นมีเด็กหญิงอายุเพียง 4 ขวบร่วมเดินทางมาด้วย โดยมีพ่อแม่ผลัดกันอุ้มและปล่อยให้เดินบ้างเป็นช่วงๆ ซึ่งครอบครัวน้ำด้เดินทางมาบนบานพระธาตุภูลังกา หลังสัมฤทธิผลจึงพากันมาแก้บนดังกล่าว
นอกจากภูลังกาจะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระอริยสงฆ์แล้ว ปัจจุบันนักกีฬาวิ่งเทรล (trail running) ซึ่งประกอบด้วยการวิ่งและการเดินเขาเหนือเส้นทาง ที่จะมีกลุ่มละประมาณ 20-30 คนจะนัดมาพิชิตยอดเขาภูลังกาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เสมอ หากได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ภูลังกาจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและด้านการกีฬาหฤโหด โดยมีแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพฤกษาศาสตร์,กีฏวิทยาสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ในกลุ่มของแมลง เพราะพืชหรือแมลงบางชนิดพบเห็นอยู่ที่ภูลังกาเพียงแห่งเดียว อีกทั้งยังมีตำนานที่เล่าขานมายาวนานเกี่ยวกับคติความเชื่อมากมายหลายเรื่อง
อุทยานแห่งชาติภูลังกา มีพื้นที่ครอบคลุม อ.บ้านแพง อ.นาทม จ.นครพนม และ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของลำธาร น้ำตกน้อยใหญ่หลายสาย บนยอดเขาช่วงฤดูหนาวจัดอุณหภูมิประมาณ 0-5 องศาเซลเซียล อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25-36 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูฝนมีปริมาณฝนมากประมาณ 1,860 มิลลิเมตร/ปี ทิวทัศน์บนยอดเขาสูงทางทิศตะวันออก สามารถชมแสงแรกของพระอาทิตย์ลอยเหนือแม่น้ำโขงที่สวยงามไม่แพ้ที่ใด ส่วนทิศตะวันตกสามารถชมตะวันลับขอบฟ้า และชื่นชมความสวยงามทางธรรมชาติของบึงโขงหลง ที่มีความเกี่ยวพันกับพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ หลังจากนั้นหนุมานจึงเหาะไปที่เขาสรรพยาหรือภูลังกาในปัจจุบัน (ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของนักวิจัยทางพฤกษศาสตร์พบว่าภูลังกาเป็นแหล่งกำเนิดสมุนไพรที่หายากและพบมากที่สุดในแถบนี้) ว่ากันว่าต้นโสมภูลังกาซึ่งพบเห็นที่นี่เพียงแห่งเดียวนั้นคือต้นสังกรณีตรีชวา ส่วนบึงโขงหลงนอกจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องราวพญานาคแล้ว บางตำราก็กล่าวว่าเพราะหนุมานโกรธจึงยกแผ่นดินบริเวณนั้นเหวี่ยงขึ้นมากลายเป็นเทือกเขาภูลังกา