11 กุมภาพันธ์ 2564
| โดย พรไพลิน จุลพันธ์
37
เมื่อต้องเจอวิกฤติโควิด-19 บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมในเครือฟอร์จูนกรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงปรับกลยุทธ์การลงทุนพัฒนาโรงแรม มุ่งขยายในวงจำกัด!
ด้วยการโฟกัสก่อสร้างโรงแรมใหม่บนที่ดินในมือของซีพีแลนด์ และแน่นอนว่าทุกอย่างต้องคุ้มทุน คืนทุนในระยะเวลาที่ยอมรับได้
สุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมในเครือฟอร์จูน เล่าว่า บริษัทฯเตรียมเปิดโรงแรมใหม่เพิ่ม 5 แห่งในปี 2564 ทั้งหมดเป็นโรงแรมขนาดเล็ก 79 ห้องพักในต่างจังหวัดเพื่อรองรับตลาดในประเทศ เช่น ลูกค้ากลุ่มจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ใช้แบรนด์ “ฟอร์จูน ดี” ในการทำตลาด วางงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 500 ล้านบาทไม่รวมค่าที่ดิน โฟกัสการก่อสร้างบนที่ดินของซีพีแลนด์ ได้แก่ ขอนแก่น, มุกดาหาร, หนองคาย และนครพนม ส่วนอีกแห่งอาจเป็นที่สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่ สงขลา หรือเชียงคาน จ.เลย ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาที่ดินว่าสมเหตุสมผลหรือไม่
“ปีนี้เครือฟอร์จูนรุกเปิดโรงแรมไซส์เล็ก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ดินของเราเอง ต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ เช่น การขึ้นโรงแรมใหม่บนที่ดินว่างติดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) และการขึ้นโรงแรมใหม่บนที่ดินฝั่งตรงข้ามโรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มประชุมสัมมนาที่มีงบฯห้องพักจำกัด ต้องการจ่ายไม่เกิน 1,000 บาทต่อคืน โดยจะมุ่งคุมต้นทุนการก่อสร้าง ห้ามเกิน 1.2 ล้านบาทต่อห้องพัก ล่าสุดผมได้ท้าทายทางทีมงานไปว่าโรงแรมเล็กแต่ละแห่งต้องใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือน”
เมื่อเปิดโรงแรมใหม่ครบทั้ง 5 แห่งในปีนี้ จะทำให้เครือฟอร์จูนมีจำนวนโรงแรมเพิ่มเป็น 17 แห่งในต่างจังหวัด คิดเป็นจำนวนห้องพักรวม 1,700-1,800 ห้อง เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 12 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักประมาณ 1,300 ห้อง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ขนาด 406 ห้องที่เครือฟอร์จูนเป็นเจ้าของ อยู่ภายใต้การบริหารของเครือแอคคอร์
แม้วิกฤติโควิด-19 จะกระทบต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรมอย่างหนัก แต่เครือฟอร์จูนได้เปิดให้บริการมาตลอดนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก เพื่อประหยัดต้นทุนค่าบำรุงรักษาโรงแรม และยังมีพนักงานที่ต้องเลี้ยงดู โดยปัจจุบันเครือฟอร์จูนมีพนักงานโรงแรมรวม 700 คน ลดลงจากเดิมที่มีกว่า 1,000 คน ทั้งนี้มีการปรับลดราคาห้องพักเฉลี่ยมากกว่า 50% เพื่อดึงดูดลูกค้านักท่องเที่ยวไทย
“ตอนนี้ทุกโรงแรมในเครือฟอร์จูนประสบภาวะขาดทุน แต่เหตุผลที่อยู่ได้ เพราะหวังว่าวันหนึ่งภาคท่องเที่ยวจะฟื้น จากปัจจัยเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าขึ้นกับปัจจัยนี้ และที่สำคัญต้องไม่มีการระบาดรอบ 3 ของโควิด-19 ในประเทศ”
ทั้งนี้ยอมรับด้วยว่าผลประกอบการปี 2563 ของซีพีแลนด์ขาดทุนเป็นครั้งแรก! หลังวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของซีพีแลนด์ซึ่งครอบคลุม 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม บริหารอาคาร นิคมอุตสาหกรรม พลังงาน และศูนย์ประชุม KICE โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมเป็นกลุ่มที่รายได้หายไปมากที่สุด!
ขณะที่ปีปกติ ซีพีแลนด์มีกำไรมากกว่า 10% ต่อปี โดยเมื่อปี 2562 ซีพีแลนด์มีรายได้รวม 2,000-3,000 ล้านบาท มีกำไรมากกว่า 700 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมครองสัดส่วนรายได้มากถึง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด
“เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้โรงแรมจะเปิดให้บริการ แต่ก็เหมือนปิดให้บริการ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก ทำให้เครือฟอร์จูนต้องปรับตัวอย่างหนัก รุกหารายได้เพิ่มจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งฟู้ดดิลิเวอรี่และการขายสตรีทฟู้ดหน้าโรงแรมในเครือที่มีโลเกชั่นดี มีคนสัญจรผ่านไปมาจำนวนมาก ในราคาจับต้องได้ เพื่อหารายได้เลี้ยงพนักงานโรงแรมในภาวะวิกฤตินี้”
ทั้งนี้ได้เริ่มขายสตรีทฟู้ดที่โรงแรมฟอร์จูน โคราช เป็นแห่งแรกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบดีมาก โดยเฉพาะเมนูปาท่องโก๋ หรือ “ฟอร์จูนปาท่องโก๋” ก่อนจะขยับขยาย ขายสตรีทฟู้ดหน้าโรงแรมอื่นๆ ในเครือเพิ่มเป็น 8 แห่ง สร้างรายได้รวมกว่า 3 แสนบาทต่อวัน
โดย 7 แห่งในต่างจังหวัดขายได้เฉลี่ย 2-3 หมื่นบาทต่อแห่งต่อวัน ส่วนอีกแห่งอย่างโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯที่เพิ่งเริ่มขายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สร้างรายได้เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อวัน แม้จะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูพนักงานทั้งหมด เพราะเดิมโรงแรมนี้มีรายได้ปีละมากกว่า 500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละกว่า 1 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าช่วยให้พนักงานได้มีงานทำในสถานการณ์แบบนี้!