นครพนม เตรียมออกมาตรการขึ้น blacklist มือเผาแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เสริมมาตราการทางกฎหมาย
วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และคณะทำงานเฝ้าระวังติดตามฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดนครพนม เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาและมาตรการต่างๆ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม และในโอกาสนี้ที่ประชุมได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมให้มีการออกมาตรการขึ้น blacklist มือเผาในพื้นที่จังหวัดนครพนม เนื่องจากเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดมลพิษ ที่ทำลายทั้งสุขอนามัยของประชาชนโดยทั่วไป ทำลายสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ทั้งยังจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วย เนื่องจากพบว่าสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดนครพนมอันดับ 1 คือ การเผาในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นการเผาพื้นในพื้นที่การเกษตร การเผาตอซังข้าว การเผาพื้นที่ทำไร่ การเผาในพื้นที่ชุมชน ริมทางหลวง ทางสาธารณะ การเผาขยะ เศษวัสดุต่างๆ แม้จะมีมาตรการทางกฎหมาย รองลงมาคือปัญหาหมอกควันข้ามแดน และควันไอเสียจากยานพาหนะ และไอเสียจากอุตสาหกรรม โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงสุดอยู่ที่ 101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดยมาตรการขึ้น blacklist มือเผาในพื้นที่จังหวัดนครพนมนั้น จะเริ่มจากหน่วยงานบูรณาการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงความจำเป็น ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่จะส่งผลต่อตัวประชาชนทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เนื่องจากหลายคนยังเข้าใจผิดมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ จากนั้นให้ประชาชนทำประชามติชุมชนร่วมกัน ถือการดำเนินมาตรการในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของจังหวัดจะมีการกระจายรายชื่อผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของบุคคลเหล่านี้ ในการให้ช่วยเหลือเมื่อมีเหตุต่างๆ หรือการให้การสนับสนุนต่างๆ เช่น การสนับสนุนพันธ์กล้าไม้ของหน่วยงานที่แต่ละปีมีการแจกจ่ายให้ประชาชน แต่ถ้าขึ้น blacklist มือเผาก็มีความเชื่อได้ว่าต้นไม้ที่ได้ไปมีโอกาสรอดน้อยก็ควรพิจารณาให้คนอื่นที่ให้ความร่วมมือก่อน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานทางการเงินที่ปัจจุบัน ก็มีเกณฑ์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่มองเห็นถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่ด้วย ซึ่งถ้ามีการทำประชาคมของหมู่บ้าน เป็นกติกาของหมู่บ้านแล้ว ทุกคนต้องให้ความร่วมมือเพราะคงไม่มีใครอยากให้คนอื่นอยู่เหนือกติกาหมู่บ้าน และถ้าถูกขึ้น blacklist มือเผาแล้ว การจะปลดออกจากรายชื่อก็จะต้องมีระยะเวลาในการประพฤติตัวที่แสดงให้คนในชุมชนมั่นใจและเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้วจริง ๆ
สำหรับการเผานั้นผิดพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กล่าวคือ การเผาหญ้า หรือขยะ หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่อาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น เพียงแต่ก่อให้เกิด กลิ่น แสง สี เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แก่ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดอาญา โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่ “น่าจะ” เป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่นนี้เจ้าของที่ดินผู้เผาจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ทั้งนี้โดยที่ไม่ต้องเกิดเพลิงไหม้หรือความเสียหายขึ้นจริงๆเลย เพียงแต่น่าจะเกิดก็เป็นความผิดตามมาตรา 220 แล้ว หากเกิดอันตรายขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่นจริงๆ ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 218 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณีซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตยกเว้นหากทรัพย์สินที่เกิดเพลิงไหม้หรืออาจจะเกิดเพลิงไหม้นั้นมีราคาเล็กน้อย ผู้กระทำก็จะได้รับโทษเบาลงตามมาตรา 223 หากลักษณะการเผาหญ้าหรือขยะหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า ลักษณะการจุดไฟเผาของตนอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้อย่างแน่นอน เช่น จุดไฟในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านหรือทรัพย์สินของคนอื่นอย่างมาก ในช่วงที่ลมแรง เช่นนี้ ผู้กระทำผิดย่อมมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217-218 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึงประหารชีวิต