วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(covid-19) ระลอกที่ 3 สายพันธุ์อังกฤษ ในจังหวัดนครพนม ว่า ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ นายแพทย์ มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม โพสต์ข้อความว่า “นครพนมวันนี้ ผู้ติดเชื้อ = 0 ติดต่อกันมา 2 วันแล้วละครับ” มีคนเข้าไปแสดงความดีใจกดไลค์กดแชร์ไปเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(covid-19) ระลอกที่ 3 อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษรายแรกของระลอกนี้เป็นหญิงอายุ 36 ปี ทำงานพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตราษฎร์บูรณะ กทม. วันที่ 7 เมษายนฯ มีอาการคล้ายจะเป็นไข้หวัด จึงเข้ารับการตรวจที่ รพ.วิภาวดี ผลตรวจ FLU (ไข้หวัดใหญ่)เป็นลบ ผลตรวจโควิดให้รอผลอีกครั้ง แต่ผู้ป่วยไม่รอผลวันที่ 8 เมษายนฯ ได้เดินทางกลับนครพนมด้วยเครื่องบินโดยสาร ต่อมาวันที่ 9 เมษายนฯ รพ.วิภาวดีโทรศัพท์แจ้งว่าพบเชื้อโควิด ผู้ป่วยจึงโทรแจ้งสายด่วน covid-19 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เพื่อให้ทาง รพ.นครพนมจัดทีมมารับผู้ป่วยเข้าดำเนินการรักษา ตั้งแต่นั้นมาก็มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยมียอดตรวจพบในวันเดียวสูงสุดคือ 10 รายเมื่อวันที่ 19 เมษายนฯ สรุป ณ ปัจจุบันตัวเลขหยุดอยู่ที่มีผู้ป่วยสะสม 123 ราย รักษาหายแล้ว 75 ราย รักษาตัวอยู่ รพ. 46 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ช่วงมีการตรวจพบโรคโควิดระลอก 3 ระบาดใหม่ๆ โลกออนไลน์ของจังหวัดออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของจังหวัดและสาธารณสุข ซึ่งเรื่องดังกล่าวนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ชี้แจงว่าสายพันธุ์โควิดได้กลายพันธุ์แล้ว เช่น การพบผู้ป่วยโควิดรายแรกของไทยเมื่อต้นปี 2563 เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นประเทศจีน ต่อมาปลายปี 2563 แรงงานพม่า(เมียนมาร์) นำสายพันธุ์อิตาลีเข้ามาจนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อ และสายพันธุ์ล่าสุดคือสายพันธุ์อังกฤษ ที่มีการแพร่กระจายเชื้อเร็วกว่า 2 สายพันธุ์แรกถึง 170 เท่า
นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขฯ จึงไม่ใช้ยุทธวิธีในรูปแบบรอให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแสดงอาการแล้วนำมารักษา ตรงกันข้ามเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันผลก็ส่งทีมสาธารณสุขเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกผู้เสี่ยงสัมผัสสูง สัมผัสต่ำทันทีทันใด และให้เหตุผลว่าตัวเลขผู้ป่วยในระยะแรกจะสูงกว่าปกติ แต่เมื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ตัวเลขก็จะลดลงตามลำดับ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มอีก เพราะยังมีประชาชนการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ การควบคุมด้วยตั้งจุดตรวจคัดกรองตามรอยต่อระหว่างจังหวัด จะไม่ได้ผลตามที่คาดการณ์กัน เพราะผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดนครพนม มักจะปกปิดไทม์ไลน์ของตัวเอง ไม่ยอมให้ข้อมูลที่แท้จริง
ดังนั้น สิ่งที่จังหวัดนครพนมร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดฯ จะต้องดำเนินการทันที คือ มอบนโยบายให้ผู้นำท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจน อสม.และประชาชนในหมู่บ้าน ร่วมกันสอดส่องผู้ที่เดินทางเข้ามาในชุมชนของตน หากพบเห็นถ้าเขาไม่ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจหาเชื้อ โดยนำตัวแยกออกจากครอบครัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อ จากนั้นจะต้องกักตัวเองเบื้องต้น 5 วัน เพื่อสังเกตอาการ กรณีผู้นั้นต้องการจะกักตัวเองที่บ้าน ทีมเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปตรวจว่าครอบครัวนี้ มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ลักษณะบ้านคับแคบไปหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่เหมาะแก่การกักตัวที่บ้าน ทางราชการจะนำตัวไป โลคอล ควอรันทีน (Local Quarantine) ที่จัดเตรียมไว้ให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ด้าน นายมานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 จังหวัดนครพนมได้นำแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค ตามหลักระบาดวิทยาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในพื้นที่ชุมชนให้เร็วที่สุด การนำแนวทางหลักระบาดวิทยา คือ “ตรวจเจอให้เร็ว พบเร็ว รักษาได้เร็ว และสุดท้ายโรคนี้สงบเร็วขึ้น ”
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่