น้ำโขงวิกฤตหนักสุดรอบ 10 ปี ลดระดับเร็วเฉลี่ยต่ำสุดแค่ 1 เมตร เกิดน้ำนิ่งตกตะกอน เป็นสีฟ้าครามคล้ายทะเล สวยงาม แต่ส่งสัญญาณถึงหายนะ ระบบนิเวศพัง ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนประเทศเพื่อนบ้าน ลำน้ำสาขา ลำน้ำสงครามแห้งขอด กระทบแหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำโขง ด้าน ผอ.ศูนย์วิจัยเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ชี้กระทบหนัก เศรษฐกิจอาชีพประมง รายได้ลดเกินครึ่ง ปลาน้ำโขงสูญพันธุ์
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ในช่วง นี้สถานการณ์น้ำโขงยังวิกฤตลดระดับต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดมีระดับน้ำเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1 เมตร ถือว่า ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ พื้นที่น้ำโขงบางจุดเกิดหาดทรายเป็นพื้นที่กว้าง ระยะทางยาว เป็นกิโลเมตร นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้น้ำโขง นิ่งไม่ไหลเชี่ยวเกิดการตกตะกอน กลายเป็นสีฟ้าครามคล้ายทะเล ถึงแม้จะสร้างความสวยงานตื่นตาให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้าม ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง ของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ระบบนิเวศเริ่มพัง ระดับน้ำโขงไม่ไหลเวียนตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาแห้งขอด
โดยเฉพาะลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ มีปริมาณน้ำน้อย ส่งผลกระทบมากสุดคือ อาชีพประมง ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้น้อย และกระทบการขยายพันธุ์ของปลาน้ำโขง ไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ตามฤดูกาล เนื่องจาก 2-3 ปี ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูฝนถือว่าระดับน้ำโขงต่ำ เมื่อเทียบกับหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณปลาน้ำโขงลดลงเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาชีพการประมงในพื้นที่
ด้าน นางสาวศิราณี งอยจันทร์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำโขงในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก น้ำโขงลดระดับเร็วตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปกติฤดูในทุกปี จะเป็นฤดูน้ำหลากที่ปลาน้ำโขงจะขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำในลำน้ำสาขา คือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ แต่เมื่อน้ำโขงปริมาณน้ำต่ำ โอกาสที่ปลาจะขึ้นไปวางไข่ ขยายพันธุ์ยาก ทำให้มีการวางไข่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง
แต่จากการวิจัยพบว่า การขยายพันธุ์ในลำน้ำโขง ทำให้ปริมาณการเติบโตของปลาลดลงเกินครึ่ง เพราะมาจากปัจจัยของสภาพแวดล้อม ยิ่งในปีนี้ปริมาณน้ำโขงต่ำ เกิดการตกตะกอน ทำให้ แพงตอนในน้ำรวมถึงสาหร่าย ตาย ปลาน้ำโขงไม่มีอาหาร จากข้อมูลการสำรวจในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน พบว่าปลาน้ำโขงเดิมมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าชนิด แต่ปัจจุบันเริ่มสูญพันธุ์หายากกว่า 100 ชนิด อาทิ ปลาบึก ปลายี่สกไทย ปลานวลจันทร์ ปลานาง ปลาโจก ปลากาดำ หรือปลาอีตุ๊ ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคาแพง ประมาณกิโลกรัมละ 150 -200 บาท เป็นที่ต้องการของตลาด และมีระยะเวลาการขยายพันธุ์ช้า พ่อพันธุ์แม่พันธ์ต้องอายุ 3-4 ปี ขึ้น ถึงจะสามารถขายพันธุ์ได้ ทำให้เริ่มสูญพันธุ์ บวกกับสภาพน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย สิ่งที่ตามมาคือ รายได้ จากอาชีพประมง เศรษฐกิจด้านประมงลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
นางสาวศิราณี งอยจันทร์ศรี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการป้องกันแก้ไข สำคัญที่สุด ทางหน่วยงานประมง ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ และห้ามใช้อุปกรณ์จับปลาที่มีการห้ามในช่วงฤดูปลาขยายพันธุ์ นอกจากนี้ยังได้วางแนวทางในการจัดพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาแบบธรรมชาติ ในลำน้ำโขง ด้วยการสร้างเขตพื้นที่ห้ามจับปลาตามหน้าวัดเขตอภัยทาน โดยใช้ความเชื่อมาเป็นส่วนในการอนุรักษ์ เพื่อขยายพันธุ์ปลาน้ำโขง ที่สำคัญจะต้องเร่งทำการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ปลา ลงสู่แม่น้ำให้มากที่สุด แต่มีปัญหาเพราะปลาบางชนิดต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ 3 -4 ปี กว่าจะสามารถขยายพันธุ์ได้ แต่มีปริมาณการจับ และการสูญพันธุ์มากกว่าการขยายพันธุ์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการประมงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในอนาคตเชื่อว่าถึงแม้จะมีการเพิ่มการขยายพันธุ์ปลามากขึ้น แต่ปัจจัยหลักคือระบบนิเวศ ระดับน้ำโขง ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ส่งผลกระทบตามมาขั้นวิกฤติแน่นอน ในอนาคต