13 ส.ค. 2565 | 10:13:34
ปภ. รายงานสถานการณ์พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองลางซอน สาธารณรัฐสังคมนิคมเวียดนาม และอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11 – 13 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้มีพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 30 อำเภอ 77 ตำบล 410 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 2,312 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน และพิษณุโลก รวม 25 อำเภอ 70 ตำบล 391 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,885 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ ดังนี้
1.เชียงราย (12 ส.ค.65) เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ขุนตาล อ.วเวียงแก่น อ.เมืองเชียงราย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่จัน อ.เทิง และ อ.แม่สาย รวม 27 ตำบล 206 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,081 ครัวเรือน
2.แม่ฮ่องสอน (12 ส.ค.65) เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า รวม 4 ตำบล 6 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
3.เชียงใหม่ (12 ส.ค.65) เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ฝาง อ.แม่อาย อ.เชียงดาว อ.เวียงแหง แลtอ.สะเมิง รวม 18 ตำบล 77 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
4.พะเยา (11 ส.ค.65) เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ใจ อ.ภูซาง และ อ.เชียงคำ รวม 7 ตำบล 68หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับ 750 ครัวเรือน
5.น่าน (11 ส.ค.65) เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงกลาง อ.บ่อเกลือ อ.ปัว อ.ทุ่งช้าง อ.เมืองน่านและ อ.ท่าวังผา รวม 13 ตำบล 33 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับ 54 ครัวเรือน
6.พิษณุโลก (12 ส.ค.65) เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว จะได้เร่งสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้
จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
Share this: