
ปศุสัตว์นครพนมระดมทีมสัตวแพทย์ ช่วยเหลือแม่พันธุ์วัวราคาเกือบแสน ล้มป่วยติดไวรัสลัมปีสกิน มั่นใจมีทางรอด หลังได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำเกษตรกร วอนอย่าวิตก สั่งเฝ้าระวัง 12 อำเภอ
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายภพพล ประเสริฐสังข์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาแก จ.นครพนม นางสาวฐิติมา ศรีคำ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ด่านกักกันสัตว์นครพนม ร่วมกับ นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก นายศักดิ์ดา ปัญญาพ่อ ผู้ใหญ่บ้านดอนพัฒนา หมู่ 6 ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ระดมทีมสัตวแพทย์ และอาสาปศุสัตว์ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ลงพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เพื่อระดมให้การดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดในโคกระบือจากกการติดเชื้อไวรัสลัมปีสกิน ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลมีโคกระบือของชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.นาแก ป่วยติดเชื้อแล้ว เกือบ 500 ตัว ตายไปแล้วกว่า 6 ตัว มากสุดในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก คาดว่าป่วยติดเชื้อมากกว่า 200 ตัว
ในครั้งนี้ ได้ระดมทีมสัตวแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ฉีดวัคซีนบำรุงกำลัง และรักษาตามอาการโค กระบือ ที่ป่วย เนื่องจากไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรง ซึ่งพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม พบโคกระบือชาวบ้าน ป่วยติดเชื้อ เกือบ 200 ตัว ทั้งนี้ ทาง อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ได้เร่งประสานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ดูแลให้ความช่วยเหลือป้องกันเร่งด่วน เพื่อลดการล้มป่วยตายให้มากที่สุด
นอกจากนี้ได้ระดมทีมสัตวแพทย์ เร่งให้การช่วยเหลือ แม่พันธุ์โค ของ นายยันชัย วงค์กระโซ่ อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดงน้อย ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม มีอายุประมาณ 6-7 ปี ขณะกำลังป่วยติดเชื้อไวรัสลัมปีสกิน จนล้มไม่สามารถลุกยืนได้ มีแผลตามตัว พยายามหาทางรักษามานานนับเดือน ยังรักษาไม่ดีขึ้น ที่สำคัญ แม่พันธุ์วัวตัวนี้ เพิ่งออกลูกได้ 3-4 เดือน ลูกกำลังกินนมแม่ แต่ไม่สามารถกินนมได้ และยืนเฝ้าแม่ตลอดเวลา ไม่สามารถจับแยกได้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อป่วยตายทั้ง 2 ตัว

ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม กล่าวถึงแนวทางการรักษาว่า ได้ระดมทีมสัตวแพทย์ เร่งให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน โดยได้ ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรอบโรงเรือน รวมถึงยาฆ่าแมลงกินเลือดที่เป็นพาหะนำโรค นอกจากนี้ได้รักษาตามอาการฉีดวัคซีนบำรุงกำลัง ยาลดไข้ วัคซีนฆ่าเชื้อแก้ปัญหาแผลติดเชื้อ โดยต้องรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มีวัคซีนรักษาโดยตรง ส่วนลูกพยายามจะมีการดูแลให้อาหารบำรุง ทั้งนมเสริม เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม พร้อมให้ทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำอำเภอ ทีมอาสาปศุสัตว์ เข้ามาดูแลต่อเนื่อง มั่นใจว่า ประมาณ 1 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น แต่ต้องดูแลใกล้ชิด เพราะโคกระบือที่ติดเชื้อลัมปีสกินส่วนใหญ่ หากรักษาตามอาการได้ทันจะหาย ส่วนใหญ่ที่ล้มตาย จะมาจากอาการโรคแทรกซ้อน

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับเกษตรกรรายอื่น ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าแมลงดูดเลือดตามโรงเรือน สำคัญที่สุด คือ ป้องกันแมลงที่จะเป็นพาหะทำให้ขยายการติดเชื้อสู่ตัวอื่น เมื่อโคกระบือตัวไหนมีอาการให้เร่งฉีดวัคซีน รักษาตามอาการ ให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน จะทำให้มีภูมิต้านทาน และหายเองได้ วอนประชาชนเกษตรกรอย่าวิตกกังวล หากพบโคกระบือมีอาการป่วยผิดปกติแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อจะช่วยเหลือได้ทันเวลา ส่วนภาพรวมการควบคุมป้องกันโรคได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมโรคระบาด ห้ามเคลื่อนย้ายทั้งจังหวัด ป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม ยืนยันไม่ติดเชื้อสู่คน แต่ไม่ควรนำเนื้อไปบริโภคหากโคกระบือล้มตาย.