ทํางานวิจัยในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดนั้น ยากพอสมควร การลงพื้นที่ในภาคอีสาน เพื่อนำเพลงพื้นบ้านมาแสดงโดยวงซิมโฟนีออเคสตรา ต้องอาศัยนักดนตรี ปราชญ์ชาวบ้าน และศิลปินในท้องถิ่น อีสานเป็นวัฒนธรรมล้านช้าง มีเพลงของชาวผู้ไท ลาว และเขมร ได้ลงพื้นที่อุบลราชธานี ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ เลย นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และได้พบกับศิลปินท้องถิ่นคนสำคัญๆ
เมื่อถึงขั้นตอนที่จะแสดงกลับคืนให้แก่พื้นที่ ก็ได้เลือกว่าจะแสดงที่ขอนแก่น เลย นครพนม พอถึงเวลาจริง โรคก็ยังระบาดอยู่อย่างแพร่หลาย ต้องติดตามความเคลื่อนไหวโรคระบาดอย่างใกล้ชิด ต้องขยับเปลี่ยนแปลงและติดตาม เพราะทุกคนก็ตกอยู่ในความกลัว กลัวตาย กลัวไม่มีกิน กลัวความยากลำบาก และกลัวติดโรค
การยกวงออเคสตราไปแสดงนั้น มีคนที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ซึ่งต้องทำงานล่วงหน้า เมื่อเปลี่ยนยกเลิกพื้นที่ก็วุ่นวายยิ่งกว่าการแสดงอีกหลายเท่า ต้องเลื่อนต้องยกเลิกตั๋วเครื่องบิน ยกเลิกที่พักโรงแรม ยกเลิกรถขนคน รถขนอุปกรณ์ ยกเลิกร้านอาหาร เครื่องเสียง เครื่องดนตรีที่เช่าไว้ แม้ไม่มีใครอยากให้เลื่อน แต่โควิดก็ทำให้สถานการณ์ต้องเลื่อน สุดท้าย พื้นที่อีสานก็มาลงตัวที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์
การยกวงออเคสตรา กองถ่ายทำของไทยพีบีเอส อุปกรณ์เครื่องเสียงแสง เครื่องปั่นไฟ ก็ต้องวางแผนทำงานอย่างรัดกุม เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทุกคนต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ต้องมีใบรับรอง ต้องตรวจ (ATK) ก่อนเข้าพื้นที่ทำงาน ประสานกับเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพ เจ้าของพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งผู้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนโครงการวิจัย เครื่องดนตรีจากบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า น้ำดื่มจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ โดยอยู่ภายใต้ข้อจำกัดจำนวนคนที่เข้าไปทำงาน 200 คน
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้ว ที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานแบบเขมรโบราณ ถือเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นถวายแด่พระศิวะหรือพระอิศวร เทพเจ้าศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาหลักในอินเดีย พราหมณ์ได้แผ่เข้ามาสู่หมู่เกาะอินโดนีเซีย พราหมณ์เป็นศาสนาหลักในหมู่เกาะมาก่อนจะมีศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่คลุมอีกทอดหนึ่ง
พระอิศวรมีลักษณะเป็นผู้ชาย (หนุ่ม) ร่างกายกำยำ ผิวพรรณสีขาว นุ่งห่มหนังเสือเหมือนฤๅษี มีสร้อยลูกประคำเป็นหัวกะโหลกมนุษย์ มีงูคล้องคอ ไว้ผมยาวม้วนเป็นมวยผม มีพระจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่นปัก มีแม่น้ำคงคาอยู่บนยอด พ่นน้ำได้ตลอด มีตาที่สามอยู่ที่หน้าผาก ปกติตาที่สามจะปิดอยู่เสมอ หากเมื่อไหร่ตาที่สามเปิดออก ก็จะบันดาลภัยพิบัติเป็นไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญโลกให้มอดวอดวาย
พระอิศวรมีวิมานอยู่ที่เขาไกรลาศ ยอดเขาใกล้หิมาลัย มีตรีศูลเป็นอาวุธ ใช้สัญลักษณ์เป็นศิวลึงค์ ซึ่งทำให้ผู้ศรัทธาศาสนาพราหมณ์นิยมสร้างศาสนสถานไว้บนยอดเขา พระอิศวรมีเครื่องดนตรีคือบัณเฑาะว์ ขี่วัวเป็นพาหนะ มีภรรยาชื่อพระปารวตี ที่ปราสาทพนมรุ้งมีศิวลึงค์พระอิศวร มีโยนีพระปารวตี มีวัวขาวหมอบอยู่
พระอิศวรมีลูกคือพระคเณศหรือพิฆเนศ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นความเชื่อในพิธีกรรม การเมืองการปกครอง ความอุดมสมบูรณ์ จิตวิญญาณ และความศักดิ์สิทธิ์
พระคเณศผู้มีอิทธิฤทธิ์โดยการปราบผีในท้องถิ่น พระคเณศ (Ganesh) เป็นเทพเจ้าแห่งดนตรีศิลปะในศาสนาไทย เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในอินเดีย และเป็นเทพเจ้าผู้ปราบผีในภูมิภาคอุษาคเนย์
องค์พระคเณศ จัดแสดงที่อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นศิลปะชวาตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 15-16 เป็นหินสูง 172 เซนติเมตร รัชกาลที่ 5 ได้มาจากอาณาจักรสิงหส่าหรี ชวาตะวันออกในอินโดนีเซีย
พระคเณศจำหลักศิลานูนสูง ประทับนั่งบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์ มี 4 กร หัตถ์ขวาบนถือขวาน หัตถ์ซ้ายบนถือพวงลูกประคำ หัตถ์ขวาซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงเครื่องประดับตกแต่งเต็มรูป มีเครื่องประดับที่ศีรษะ มีต่างหูรูปกะโหลกมนุษย์ พาหุรัด เข็มขัดรัดองค์ ทองพระกร ทองพระบาท ทรงภูษาลวดลายกะโหลกมนุษย์ สวมสายยัชโญปวีตรูปงู ผู้สำเร็จราชการฮอลันดาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จฯชวา พ.ศ.2439
พระคเณศเป็นผู้ปราบผีท้องถิ่น รัชกาลที่ 5 ได้นำพระคเณศหินนั่งทับกะโหลกมนุษย์ ประดิษฐานไว้ที่วังหน้า เชื่อว่าเป็นกุศโลบายเพื่อปราบผีวังหน้าโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ผีวังหน้ามีปัญหากับวังหลวงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1
เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งกรมศิลปากรขึ้น พ.ศ.2454 จึงใช้พระคเณศเป็นตราประทับ ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งต่อมาใช้เป็นทั้งสัญลักษณ์และเครื่องหมายของกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2486 ทำให้พระคเณศหรือพระพิฆเนศมีบทบาทเพิ่มเติมในฐานะเทพเจ้าแห่งศิลปะดนตรี
ส่วนผีท้องถิ่นนั้น ก็สามารถอาศัยอยู่ในบริเวณศาสนสถานได้ แต่ต้องอยู่รอบนอกตามต้นไม้ สำหรับผู้ที่เคารพนับถือผี ก็สามารถทำพิธีกราบไหว้บูชา มีธูปเทียนปักไว้ที่ต้นไม้ เรียกกันว่า “ต้นหีผี” ราชการเรียกว่า “ต้นโยนีปีศาจ” จากพงศาวดารกระซิบ พ.ศ.2534 ถือเป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
ปราสาทพนมรุ้งเป็นภาษาเขมร แปลว่าภูเขาอันกว้างใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (พ.ศ.1487-1511) สร้างถวายพระอิศวร ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 พ.ศ.1511-1544 สร้างต่อให้เป็นสถานที่บำเพ็ญพรต (ฤๅษี) ซึ่งมีพระนเรนทราทิตย์ได้ทรงบำเพ็ญเป็นโยคีที่ปราสาทพนมรุ้ง
ในการแสดงหนังตะลุงที่ภาคใต้ ก่อนการแสดงจะมีรูปลิงขาวลิงดำ แล้วมีรูปฤๅษีออกมาไหว้ครูและต่อด้วยรูปพระอิศวรขี่วัว เนื่องจากพระอิศวรเป็นผู้ชายร่างกายกำยำน้ำหนักมาก วัวที่ขี่ก็มีอาการไม่เชื่อง หนังตะลุงจะเชิดบทวัวพยศคือขัดขืน ดนตรีก็จะออกเชิดขวัดโค ปี่เป่าเพลงเชิดพระอิศวร
ครั้งนี้ได้ทำพิธีบวงสรวงที่ปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็นพิธีแก้บน ขอความอุดมสมบูรณ์ ขอความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ขอท่านด้วยความศรัทธา ทำพิธีโดยหมอผีท้องถิ่น พิธีถือเป็นการสมยอมผสมกันทั้งผี พรามหณ์ พุทธ ทำความเคารพต่อผีบรรพชน ผีท้องถิ่น บูชาพระฤๅษี นักพรต พระคเณศ พระอิศวร พระปารวตี ใช้ดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน เครื่องสังเวยทั้งผีและเทวดา มีวงกันตรึม หมอพิณ วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา พร้อมนางอัปสร 9 นางร่ายรำครบถ้วนตามพิธีกรรม
พิธีบูชาที่ปราสาทพนมรุ้งครั้งนี้ ทำตามพงศาวดารกระซิบ ตอนแรกก็เชิญหมอผีชื่อดัง พอดีท่านได้เรียกค่ายกครูสูง ราคาแบบถูกหวยครั้งเดียวแล้วรวยเลย จึงคิดว่าจะทำพิธีกรรมใหม่ โดยตั้งจิตจะเป็นหมอผีเสียเอง ไม่มีรำแก้บน ไม่มีการรำแก้ล่าง ไม่ขอน้ำขอฝนเพราะท่านได้ให้มาเพียงพอแล้ว แต่ขอให้ท่านหยุดได้แล้ว
เมื่อความล่วงรู้ถึงครูหมอตัวจริง ท่านจึงได้อาสามาทำพิธีให้ คือ ครูหมอน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ ท่านถามว่าจะขออะไรบ้าง ได้เรียนท่านว่า ขอให้ฝนหยุดตกขณะที่ทำพิธีก็พอแล้ว ทำพิธีเสร็จฝนตกลงมาก็ไม่ว่ากัน
สำหรับเพลงที่ถวายบูชามีเพลงนางนาค แม่สี ซึ่งเป็นเพลงพิธีของหมอผีสำคัญ เพลงเต้ยซึ่งเป็นทำนองที่โด่งดังจากเพลงสาวจันทร์กั้งโกบ ของคุณพรศักดิ์ ส่องแสง ทำให้เพลงอีสานเข้าไปอยู่ในดิสโก้เธคในเมืองกรุงตั้งแต่ พ.ศ.2529 เพลงลำเพลิน โดยหมอพิณคำเม้า เปิดถนน ลมพัดพร้าว ลายต้อนวัวขึ้นภู แมงภู่ตอมดอก สุดสะแนน จำปาเมืองลาว จากขับทุ้มหลวงพระบาง เพลงผู้ใหญ่ลี เพลงวงกันตรึม สีซอเขมรโดย หมอซอวิชา นิลกระยา เพลงอมตูก อะไยจ๊ะกร้าบ แอกแครง แฮปปียา ขับร้องโดย น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์
มีหมอผีตัวปลอมจากเมืองอุบลฯ มาร่วมงานด้วย ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ หัวหน้าวงโปงลางอุบล มาพร้อมลูกประคำ ลูกกระพรวน ลูกน้ำเต้า เป่าโหวด เพื่อเขย่าจังหวะตามเพลงให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ มีนักร้องรุ่นใหม่ ณัฐณิชา พานถิ มาร่วมร้องเพลงถวายที่ปราสาทพนมรุ้ง
พิธีบูชาโดยอาศัยพงศาวดารกระซิบ ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา เป็นการนำอดีตที่มีรากเหง้ามารับใช้ปัจจุบัน สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้น อาจจะคิดกันคนละแบบ ใช้ตำรากันคนละชุด แต่ก็ด้วยความปรารถนาดี อาศัยความคิดสร้างสรรค์ อาศัยจินตนาการ ด้วยความร่วมมือและบารมีของทั้งผีและเทวดาให้สามารถทำงานครั้งนี้เกิดขึ้นได้
พิธีจะตั้งขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของตัวปราสาทหลัก เวลา 16.30-18.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2564
สุกรี เจริญสุข