- Line
ม.นครพนม – ปัญหาลามบานปลาย คณะบุคคลถอดใจขอบาย ที่เดียวในโลกตะเกียงไส้ขาด ตั้งลูกจ้างชั่วคราวมาคุมข้าราชการประจำ
ผู้สื่อข่าวรายงานปัญหาที่หมักหมมในมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) แม้ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ในขณะนั้น) จะมีการแต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ 103/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ตามความในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และคณะกรรมการสภาฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด พร้อมแต่งตั้งคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
คณาจารย์เริ่มขาดความเชื่อมั่นเพราะคณะบุคคล ไม่ต่างไปจากผู้บริหารชุดที่ผ่านมา จึงมีคำถามว่าเข้ามาเพื่ออะไรกันแน่ โดยแพะรับบาปตัวแรกที่ถูกจับขึ้นเขียงคือ วิทยาลัยการบินนานาชาติ(ว.การบินฯ) ถูกคณะอนุกรรมการทำการศึกษาและเสนอความเห็นชอบในการรวมหรือยุบเลิก โดยอ้างว่าขาดสภาพคล่อง ทั้งที่ความจริงคือ ว.การบินฯ เป็นหน่วยงานระดับต้นๆที่ทำเงินให้กับ มนพ.เป็นกอบเป็นกำที่สุด อดีตมีนักเรียนการบินต่างมุ่งมาเรียนฝึกบินที่นี่จำนวนมาก ภายหลังมีการเอาบุคคลที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดธรรมาภิบาลเข้ามาบริหาร ก็นำทยอยเงิน ว.การบินฯ ออกไปใช้ทางอื่นจนหมด แล้วกล่าวหาว่าคณบดีฯล้มเหลว จึงมีอดีตคณบดีอย่างเช่น พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร ยื่นหนังสือร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาราชการแทนอธิการบดี มนพ. โยคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้สรุปแล้วว่า
“การที่มหาวิทยาลัยฯ นำเงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้ ว.การบินฯ ไปจัดสรให้กับหน่วยงานอื่น จนเป็นเหตุให้ ว.การบินฯ มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ถือเป็นการทำผิดวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปี พ.ศ.2543 และระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงปี 2554”
ทั้งนี้หลัง มนพ.รับทราบแล้ว ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆกับผู้กระทำผิด ปล่อยให้ลอยนวลมาจนทุกวันนี้ และยังสมนาคุณอดีตลูกน้องเก่าผู้บริหารที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดความเสียหายให้มีตำแหน่งสำคัญๆอีกด้วย
โดย ว.การบินฯเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีบุคลากรเกือบ 100 คน กำลังจะถูกเลิกจ้างไปบางส่วน โดยคณะอนุกรรมการอ้างเพื่อเป็นการปรับโครงสร้างและลดค่าใช้จ่าย บุคลากรเหล่านั้นจึงไม่ยอมเป็นลูกไล่ต่างลุกฮือคัดค้าน พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้แทนราษฎร ได้แก่ นายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (ส.ส.นครพนม 13 สมัย) นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย/รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย และ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย
โดยปัญหาข้อพิพาทระหว่าง มนพ.กับบุคลากร ว.การบินฯ คือ เงินเดือนและค่าตอบแทนฯจ่ายไม่ตรงตามประกาศกำหนดวันจ่ายฯข้าราชการและลูกจ้างของรัฐ ประจำปี 2564 ของกรมบัญชีกลางฯ ถึงสิ้นเดือนแต่ละครั้งบุคลากรต้องทวงถาม และร้องเรียนหน่วยงานภายนอกหลายครั้ง โดย มนพ.ตอบกลับว่าไม่สามารถจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนได้ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ และ ว.การบินฯไม่มีรายได้เข้า
บุคลากรฯจึงถามกลับว่าเงินสะสมของ ว.การบินฯ ถูก มนพ.นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หากมีเงินจำนวนนี้ ก็จะงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ และการที่ มนพ.นำเงินงบประมาณอุดหนุนโครงการฯ ตั้งแต่ปีงบฯ 2557-2563 จำนวน 104 ล้านบาท ไปจัดสรรหน่วยงานอื่น จนเป็นเหตุให้ ว.การบินฯมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายนั้น ใครคือตัวต้นเหตุที่แท้จริง ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบจากคณะบุคคลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่จะมีปัญหาการเงินตามมาอีกคือคณะครุศาสตร์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่มีเงินบริหารโรงเรียนสาธิตต่อไปได้ จึงแก้ปัญหาโดยเสนอให้คณะบุคคลโอนย้ายโรงเรียนสาธิตไปอยู่ภายใต้สังกัดคณะครุศาสตร์ โดยมีคนในครุศาสตร์ร่วมดำเนินการออกระเบียบโรงเรียนใหม่เอง ทั้งนี้อาจารย์ บุคลากร และคณะกรรมการฯ ไม่มีใครรู้เรื่องดังกล่าวเลย เพิ่งรู้เมื่อมหาวิทยาลัยส่งมติคณะบุคคลและระเบียบโรงเรียนสาธิตไปให้คณะครุศาสตร์เพื่อรับทราบว่า ต้องรับโอนบุคลากร ทรัพย์สิน และหนี้สินของโรงเรียนเพื่อดำเนินการบริหารจัดการโรงเรียนสาธิตต่อไป และเจ้าหน้าที่โรงเรียนสาธิตก็ยังไม่ได้รับเงินเดือนเหมือนๆกับ ว.การบินฯเช่นเดียวกัน ขณะที่ ว.พยาบาลฯ เงินก็หมดหน้าตักแล้วเช่นกัน มีแต่บัญชีเงินยืม แต่ไม่มีแผนคืน
ล่าสุด หนึ่งในคณะบุคคลถอดใจยื่นหนังสือลาออก แต่คณะบุคคลกลัวเสียหน้าจึงไม่เซ็นอนุมัติ จึงหาทางเลี่ยงด้วยการขอลาไปรักษาสุขภาพเป็นเวลา 2 เดือนก็จะครบวาระพอดี
ทาง มนพ.จึงตั้งรักษาการขึ้นมาแทน ปรากฏว่ารักษาการรายนี้เป็นผู้บริหารไม่ได้ เนื่องจากเป็นพนักงานตามสัญญา หรือลูกจ้างชั่วคราวรายปีงบประมาณ ตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ตอบข้อหารือของมหาวิทยาลัย กรณีจ้างบุคคลอายุ 60 ปีเป็นลูกจ้างชั่วคราวได้ แต่ห้ามเป็นผู้บริหารที่กำหนดนโยบาย ซึ่งข้อห้ามใดๆอาจจะใช้ไม่ได้กับ มนพ. เพราะสิ่งไหนที่ถูกต้องมักจะไม่ดำเนินการกัน