“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาธรรมชาติ สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้นั้นเป็นความรู้ตามกฎธรรมชาติทั้งสิ้น” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
“เหรียญเจ้าสัว” หรือ “เหรียญหล่อพิมพ์เจ้าสัว” ที่เป็นต้นตำรับของแท้และดั้งเดิม คือ “เหรียญเจ้าสัวหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม” พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม สร้างเมื่อขึ้นเมื่อประมาณปี 2475 เมื่อคราวทำบุญอายุหลวงปู่บุญ ครบ 7 รอบ 84 ปี โดยพระวินัยกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เป็นผู้จัดสร้างถวาย หลวงปู่บุญอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว
มีพุทธลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ หูเชื่อม จัดสร้างเนื้อเงินและเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชร บนอาสนะฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างมีกรอบซุ้มเรือนแก้ว 2 เส้นขนานกัน ด้านหลังเหรียญเรียบ ไม่มีอักขระเลขยันต์ หรือตัวหนังสือใดๆ แต่มีรอยตะไบที่ตกแต่งพิมพ์ให้เรียบร้อย รุ่นนี้ในปัจจุบันมีสนนราคาสูงมาก
ในปี พ.ศ.2499 วัดโอกาส จ.นครพนม โดยพระครูสุนทรกัลยาณพจน์ เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 8 จัดสร้าง “เหรียญพระติ้ว-พระเทียม รุ่น 1” เพื่อฉลองวิหารประดิษฐานพระติ้ว-พระเทียม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ลักษณะเป็นเหรียญกลม ไม่มีหูห่วง เนื้อเมฆพัด (อ่านว่า เมก-กะ-พัด) เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุ ผสมระหว่างตะกั่วและทองแดง
ด้านหน้าเหรียญ ซ้ายมือประดิษฐานพระติ้ว และด้านขวามือ พระเทียม ปางมารวิชัยประทับแท่นบนฐานดอกบัว ใต้ฐานสลักตัวหนังสือนูน พระติ้ว พระเทียม รอบวงรีขอบเหรียญเป็นยันต์อักขระ ด้านหลังเหรียญ กลางเหรียญเป็นลายเส้นนูนภาพอุโบสถ ใกล้กันเป็นวิหารหอคู่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระติ้ว-พระเทียม ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวา ระบุคำว่า “วิหารพระติ้วพระเทียม” วัดโอกาส (ศรีบัวบาน) ด้านล่างสลักชื่อจังหวัด “นครพนม” กลายเป็นเหรียญหายาก
“หลวงพ่อเกิด ปุณณปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสะพาน ต.อาษา อ.บ้านนา จ.นครนายก สร้างวัตถุมงคลมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ผ้ายันต์ ตะกรุด และเหรียญ จนเป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของชาวอำเภอบ้านนา จ.นครนายก เป็นอย่างมาก วัตถุมงคลที่จัดสร้างเป็นรุ่นแรกคือ เหรียญหลวงพ่อเกิด พิมพ์หน้าแก่ จัดสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 11 เมษายน 2479 เป็นเหรียญรูปไข่ มีทั้งเนื้อทองแดง และอัลปาก้า ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเกิดครึ่งองค์ ลักษณะแก้มตอบ มีรอยย่นบนหน้าผาก 2 เส้นชัดเจน ขอบเหรียญมีเม็ดไข่ปลา ขอบด้านล่างมีลายตะขอคู่ ด้านล่างเป็นตัวหนังสือโค้งเขียนว่า พระอุปัชณาย์เกิด วัดสะพาน (อุปัชฌาย์ เขียนเป็นอุปัชณาย์) ส่วนด้านหลังเหรียญ มียันต์และตัวอุณาโลมอยู่ด้านบน และด้านล่างของเหรียญ ซึ่งเป็นจุดหลักของเหรียญนี้ ปัจจุบันเริ่มหายาก
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]