วันพฤหัสบดี ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2566, 13.02 น.
จังหวัดนครพนมสนองพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ปลุกกระแสผ้าไทย อนุรักษ์ภูมิปัญญาและพัฒนาต่อยอดผ้าไทยสู่ความยั่งยืน พร้อมยกระดับและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน ผ้ามุกนครพนม ผ้าย้อมสมุนไพร ไม้มงคล ผ้าลายพระราชทาน และผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยเน้นสีธรรมชาติ ชูจุดเด่นด้านความสวยงาม โชว์ความเป็นอัตลักษณ์ และตอบโจทย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมนำเสนอ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในรูปแบบที่ทันสมัย สวมใส่ได้ทุกโอกาส แต่ยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาในการทอผ้าและการย้อมผ้า โดยระดมผู้ประกอบการผ้าไทยจากจังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร ร่วมออกร้านในงานเทศกาลผ้าพื้นเมือง ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม 2023 สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่นหลายล้านบาท
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยถึงการจัดงานเทศกาลผ้าพื้นเมือง ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม 2023 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ลานลานพนมนาคา – ลานกันเกรา ริมโขง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ว่าการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาความเป็นไทยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้เป็นที่ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย ก่อให้เกิดรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในชนบทและในทุกภาค พร้อมทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566
ขณะเดียวกันยังเป็นการจัดกิจกรรม และเป็นการถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยเชิญชวนคนไทยให้สวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน สร้างความตระหนักในคุณค่าและความภาคภูมิใจในผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ซึ่งผ้ามุกนครพนมนั้นก็ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของจังหวัดนครพนมด้วย ซึ่งในงานนี้นอกจากจะมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และสินค้าโอทอปต่าง ๆ ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังมีกิจกรรมตลาดนัดศิลปะ โครงการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม จัดกิจกรรมเวิร์กชอปต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เข้าร่วม และสามารถนำไปพัฒนาเป็นงานสร้างอาชีพ หรือทำเป็นงานอดิเรกได้ เช่น การเพ้นท์แก้ว การทำกระเป๋าผ้า การทำพวงกุญแจรถ และการวาดภาพ โดยการจัดงานในครั้งนี้สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นมากกว่าสองล้านบาทใน 1 สัปดาห์อีกด้วย
ด้าน นายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดนครพนม กล่าวถึงแนวคิดของจังหวัดนครพนมในการปลุกกระแสผ้าไทยนครพนมให้เป็นที่รู้จักและได้รับการเผยแพร่สู่ผู้บริโภคในวงที่กว้างขึ้นว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการยกระดับ พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานของผ้าไทยนครพนม ได้แก่ ผ้าลายพระราชทาน ผ้ามุกนครพนม ผ้าย้อมสมุนไพร ไม้มงคล และผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยเน้นสีธรรมชาติ และส่งเสริมการนำผ้าประเภทต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ตามวาระ โอกาส และพิธีการต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลาย ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทยให้ทันสมัย และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผ้าไทยที่ถูกยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และมีการพัฒนารูปแบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนไทยมากขึ้นด้วย โดยการส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทย และส่งเสริมการสร้างสรรค์ ผลงานการออกแบบชุดแต่งกายผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองท้องถิ่นของนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งในการจัดงานเทศกาลผ้าพื้นเมือง ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม 2023 ครั้งนี้ ยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยจากกิจกรรมการแสดงจากโครงการ “นาหว้าโมเดล” และการประกวดออกแบบและเดินแบบ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม ร่วมเดินแบบแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของผ้าไทยนครพนมในแต่ละอำเภอด้วย
ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ผ้าไทยนครพนม และผ้าพื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทรงพระกรุณาให้ดำเนินโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” เนื่องในโอกาส 50 ปี โครงการศิลปาชีพ โดยเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าถิ่นไทยสู่ความยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ค้า ผู้ประกอบการ OTOP/ชุมชน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการค้าต่าง ๆ อีกด้วย
-(016)