นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมและติดตามการดำเนินการโครงการวิจัย ระยะที่ 2 เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของ “วัคซีนเอชเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac)” ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินการวิจัย
โควิดวันนี้ (19ส.ค.65) ติดเชื้อหลัก 2 พัน ป่วยกำลังรักษาพุ่งเกิน 2 หมื่นราย
“อนุทิน” ปลดล็อกกัญชา 2 เดือนผลกระทบน้อยเทียบยาบ้า
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนเอชเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และผ่านการวิจัยในระยะที่ 1 ที่แสดงว่ามีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง จึงดำเนินการเริ่มวิจัยในระยะที่ 2 ในกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนในโครงการวิจัย โดยสนับสนุนบริการตรวจ rt-PCR แก่อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ด้วยรถตรวจเคลื่อนที่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจ rt-PCR ณ สถานที่ดำเนินการวิจัย สร้างความมั่นใจต่อผลการทดสอบว่าดำเนินการเป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัย
“โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นประโยชน์ และสนับสนุนต่อนโยบายความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ หากผลการศึกษาแสดงออกมาว่าวัคซีนที่ผลิตในประเทศมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่สามารถเทียบเคียงกับวัคซีนที่นำเข้า และมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนไทย และช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
วัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ฟัก “HXP-GPOVac”
สำหรับ “วัคซีนเอชเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac)” นั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ใช้เทคโนโลยี “ไข่ไก่ฟัก” หรือ “egg-based technology” ซึ่งเคยใช้ผลิตวัคซีนมาแล้วหลายชนิด อย่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ รวมถึงนำเทคโนโลยี ความรู้ใหม่อย่าง “เฮกซะโปร” หรือ “HexaPro” มาพัฒนาสูตรจนกลายเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่กลางปี 2563
เปิดประสิทธิผลวัคซีนโควิด ฉีดเข็ม 3 ลดป่วย 90% เข็ม 4 อัตรายิ่งสูง
“BA.5” หนีภูมิวัคซีนทุกสูตร – ติดซ้ำได้ใน 2 สัปดาห์
โดยเทคโนโลยี เฮกซะโปร มีความน่าสนใจ คือ เป็นการนำโพรลีนเพิ่มเข้าไป 6 ตำแหน่ง เพื่อตรึงสไปร์คหรือหนามของโปรตีนไวรัสโคโรนาให้เสถียร และเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ยาก ซึ่งยิ่งโครงสร้างคงรูปมากเท่าไร จะยิ่งมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นเท่านั้น ทำให้โปรตีนในรูปแบบดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ขณะเดียวกัน ยังมีความสามารถในการยืดหยุ่น ทนต่อความร้อนและสารเคมีที่สร้างความเสียหายได้ดีกว่าเดิมด้วย
ขณะที่วัคซีนที่ค้นพบก่อนหน้า อาทิ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนโนวาแวค จะใช้เทคโนโลยีเพิ่มโพรลีนเข้าเพียงไป 2 ตำแหน่งเพื่อตรึงโปรตีนสไปค์ไวรัสโคโรนาเท่านั้น
นับว่าเทคโนโลยีใหม่นี้เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ “วัคซีนเอชเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac)” อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้ดีมากยิ่งขึ้น