วันเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่เปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของไทยในกรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส
รู้หรือไม่ วันแรกที่เปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของไทยในกรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส โดยสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 – 2497
ประวัติและความเป็นมาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของไทยในกรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส อันมีสาเหตุเนื่องจากรัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอาณานิคมของฝรั่งเศสด้านอินโดจีนให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ฝรั่งเศสพยายามประวิงเวลาเรื่อยมา
จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสจึงขอทำสัญญาสงบศึกกับไทย และสัญญาจะไม่รุกรานไทย เพราะอยากเปิดศึกสองด้าน รัฐบาลไทยจึงยินยอมโดยมีเงื่อนไขให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเขตแดนให้เรียบร้อย โดยต้องคืนดินแดนลาวและกัมพูชาที่ยึดไปกลับคืนให้ไทย โดยในครั้งนั้น ฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอและเริ่มรุกรานไทยด้วยการยิงปืนข้ามแม่น้ำโขง ส่งเครื่องบินล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย
ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เครื่องบินฝรั่งเศสได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ไทยจึงตอบโต้และเคลื่อนกำลังเข้ายึดดินแดนในอินโดจีนส่วนที่เป็นของไทยกลับคืนมาหลายแห่ง การรบดำเนินอยู่จนวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นจึงขอเสนอตัวเป็นกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท ผลทำให้ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนบางส่วนในอินโดจีนให้ไทย ได้แก่ หลวงพระบางฝั่งขวา จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ และพระตะบอง ในการรบครั้งนี้ฝ่ายไทยสูญเสียทหารและพลเรือน 59 นาย
หลังจากนั้น เมื่อเหตุการณ์สงบ รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการสงครามและประสบอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติวีรกรรมและเป็นเครื่องเตือนใจอนุชนรุ่นต่อมา โดยให้ชื่อว่า “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ซึ่งกำหนดพื้นที่ก่อสร้างบริเวณสี่แยกถนนราชวิถีตัดกับถนนพญาไท และต้นถนนพหลโยธิน และให้หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นผู้ออกแบบ และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นหัวหน้าช่างปั้น
การออกแบบของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีแรงบันดาลใจ 5 ประการ คือ
1. ปฏิบัติการของกองทัพทั้งสี่
2. ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ
3. อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ
4. เหตุการณ์สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ
5. ความสนใจของประชาชน
โดยการออกแบบของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น เมื่อดูองค์รวมแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับพระปรางค์วัดอรุณฯ เพียงแต่องค์ประกอบและรายละเอียดต่างกันไปตามเนื้อหาสาระของเรื่องรา ว ตรงกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปรียบเสมือนดาบปลายปืนให้เห็นถึงการต่อสู้อันแหลมคมทั้งปัญญาและอาวุธ บริเวณโดยรอบคือทหารหาญแห่งกองทัพไทยที่เข้ารบกับอริราชศัตรูเป็นสามารถ เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องดินแดนอันเป็นราชอาณาจักรไทย รักษาเอกราชของชาติไทย
รูปแบบของอนุสาวรีย์ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร จำนวน 5 เล่ม ประกอบรวมกันจัดตั้งเป็นกลีบแบบรูปมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นผิวประดับด้วยหินอ่อน มีความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ 50 เมตร (เฉพาะส่วนของดาบปลายปืนสูงประมาณ 30 เมตร) ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเป็นฐานเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ภายในห้องโถงใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่และบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ด้านนอกรอบโคนดาบปลายปืนมีรูปปั้นหล่อทองแดงวีรชน ขนาดความสูงขนาด 2 เท่าของคนจริง ประกอบด้วย 5 เหล่า ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ที่ฐานอนุสาวรีย์มีแผ่นจารึกทำด้วยหินอ่อน ตัวอักษรหล่อด้วยทองแดง แสดงรายชื่อวีรชนที่เสียชีวิตจากกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสจำนวน 59 นาย ซึ่งต่อมากระทรวงกลาโหมได้ประกอบพิธีบรรจุอัฐิวีรชนผู้กล้าหาญจากสมรภูมิอื่นๆ และจารึกชื่อเพิ่มไว้ที่แท่นฐานอนุสาวรีย์
ที่มาข้อมูล : https://www.bkkmonument.com/victory
ที่มาภาพ : AFP