เผยแพร่:
ปรับปรุง:
นครพนม- วิทยาลัยการบิน ม.นครพนมส่อถูกสั่งปิด ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินย้อนหลังเกือบ 10 ปี เจอเงินสะสมหายเกือบ 200 ล้านบาท ขณะที่ศิษย์การบินอีก 26 คน ยังไร้อนาคต ด้านรักษาการอธิการบดี ยอมรับเงินถูกมหาวิทยาลัยโยกมาบริหารเอง เร่งวางแนวทางแก้ไข เตรียมเสนอ สตง.ตรวจสอบมีทุจริตหรือไม่ ส่วน รรก.คณบดีการบิน เชื่ออาจถูกลอยแพ มีโอกาสปิดหลักสูตรสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีบุคลากร เจ้าหน้าที่ รวมถึงศิษย์การบิน ของ วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม ออกมาร้องเรียนขอความเป็นธรรม กับ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าฯจ.นครพนม รวมถึง รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และหน่วยงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้มีการตรวจสอบ การบริหารงานของมหาวิทยาลัยนครพนม เกี่ยวกับการดำเนินการขอใช้เงินสะสมของวิทยาลัยการบินนานาชาติ จนส่งผลกระทบให้ มีปัญหา ขาดสภาพคล่อง กระทบการเรียนการสอน
ทั้งมีกระแสข่าวมีการเสนอยุบวิทยาลัยการบินนานาชาติ จึงต้องการให้ผู้มีอำนาจ ช่วยตรวจสอบให้ความเป็นธรรม เกรงว่าจะเกิดปัญหาการทุจริตภายใน เนื่องจากมหาวิทยาลัยนครพนม เกิดปัญหาภาการบริหารงานภายในมาตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งเมื่อ เดือน พฤศจิกายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีคำสั่งใช้ มาตรา 51 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ปลดอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เกี่ยวกับปัญหาธรรมาภิบาลในองค์กร จึงตั้งคณะบุคคลมากำกับดูแล พร้อมแต่งแต่ง รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม มากำกับดูแลแก้ไขปัญหา
ล่าสุด รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องว่า กรณีมีการร้องเรียนของ บุคลากรเจ้าหน้าที่ ศิษย์การบิน วิทยาลัยการบิน เกี่ยวกับปัญหาการเงินสะสมที่ขาดสภาพคล่อง รวมถึงประเด็นกระแสข่าวลือยุบวิทยาลัยการบินนั้น ตนได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบสถานะการเงินการคลัง ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน คือปี 2563 ยอมรับ ว่า มีปัญหาเงินสะสม หายไปเกือบ 200 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งมีมูลเหตุมาจากรัฐบาลมีการจ่ายงบอุดหนุนน้อยลงทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 จากปีละ 60 -70 ล้านบาท เหลือประมาณ 30 -40 ล้านบาท และปี 2564 ไม่ได้รับงบอุดหนุนเลย รวมถึงศิษย์การบินจำนวนลดลง ล่าสุดแทบไม่มีเลย ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการภายใน แต่มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าตอบแทนบุคลากร เจ้าหน้าที่ ประมาณเดือนละกว่า 3 ล้านบาท
สำหรับประเด็นการตั้งข้อสังเกตุว่ามีทุจริตหรือไม่ ตนไม่ขอยืนยัน แต่จากการตรวจสอบเอกสาร ขั้นตอนการขอใช้เงิน กรณีมหาวิทยาลัยนครพนม มีการโยกงบประมาณของวิทยาลัยการบินไปใช้จ่ายบางส่วน เบื้องต้นตรวจสอบทำตามระเบียบขั้นตอนถูกต้อง แต่เมื่อเกิดปัญหา ตนจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ เสนอไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสนอให้ สตง.มาตรวจสอบ
“เราจะพยายามหาทางออกเพื่อรักษาสภาพให้วิทยาลัยการบินเดินต่อ เพราะยังมีศิษย์การบินที่ยังศึกษาอยู่ ส่วนการแก้ไขปัญหางบประมาณต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ยืนยันว่าจะแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด แต่หากมีปัญหาถึงขึ้นที่เดินต่อไปไม่ได้ จะต้องผ่านกระบวนการ เสนอในการปรับลดการบริหารงาน แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน จะหาทางออกให้ดีที่สุด” รศ.กิตติชัยกล่าว
ด้าน พลอากาศเอก อารมย์ ปัถวี รักษาราชการแทน คณบดีวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า หลังมหาวิทยาลัยนครพนม มีการแถลงชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการบริหารงานของคณะบุคคล ตนเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญตนมองว่า เป็นการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง
เพราะก่อนนี้ ทางมหาวิทยาลัยนครพนม มีการอ้างระเบียบการโยกงบประมาณไปใช้จ่ายด้านอื่น โดยไม่คำนึ่งถึงเสถียรภาพของวิทยาลัยการบิน ที่ขาดสภาพคล่อง จนเกิดปัญหาขาดงบประมาณ เงินสะสม การเงินการคลังหมด
แม้กระทั่งเงินค่าตอบแทนบุคลากร พนักงาน ยังตกค้าง ศิษย์การบิน อีก 26 คน ยังไม่รู้ชะตากรรมจะจบการศึกษาตอนไหน เพราะงบประมาณบริหารจัดการไม่มีเหลือแล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยนครพนม อ้างว่าทำถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งที่ วิทยาลัยการบินเกิดปัญหาการเงิน และตนยืนยันว่าในระเบียบไม่สามารถโยกงบประมาณของวิทยาลัยการบินไปใช้ได้
“ปัญหาดังกล่าวต้องหาคนมารับผิดชอบ และตนห่วงที่สุด เมื่อไม่มีการแก้ไขปัญหาสุดท้าย จะถูกลอยแพ และถูกยุบโดยปริยาย”