เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน หรือเส้นทางรถไฟ “ล้านช้าง”เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยทางรถไฟสายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(Belt & Road Initiative — BRI) ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ริเริ่มขึ้นในปี 2013 เพื่อขยายเส้นทางการเดินทางขนส่งเชื่อมต่อผู้คนใน 70 ประเทศทั่วโลกทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งแน่นอนว่า การเปิดให้บริการถไฟความเร็วสูง จะมีทั้งประโยชน์ในเรื่องการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า ที่จีนจะส่งผ่านมาลงมาทางตอนใต้ ขณะที่ ก็มีความเป็นไปได้ว่า คนไทยส่วนหนึ่ง จะใช้โอกาสนี้ ในการเดินทางท่องเที่ยวไปสู่ประเทศจีน หลังจากที่ประเทศลาวทยอยเปิดประเทศในช่วงต้นปี 2565
“รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ตอนนี้จ่อไทยแล้ว ซึ่งผลที่จะตามมา จังหวัดหนองคายน่าจะได้รับอานิสงส์ ขณะที่เราจะสามารถส่งสินค้าไทยออกไปได้ เช่นเดียวกัน สินค้าจากจีนก็จะเข้ามาด้วย และคิดว่าเมื่อทุกอย่างเปิด มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านหนองคายจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5 เท่า ซึ่งผมคิดว่า ในช่วงสั้น ระวังคนไทยไหลออกไปประเทศลาว แต่เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ รับรองได้คนจีนทะลักมาแน่ สิ่งสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาเช็กอินที่ภาคอีสาน เราต้องสร้างสตอรี่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายกล่าว
“Happy Model” การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ส่งเสริมศก.ชุมชน
นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวถึงแนวคิดของการทำ “Happy Model” ซึ่งเป็นโครงการอารมณ์ดีมีความสุขว่า ในช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การท่องเที่ยวของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะ Over Tourism ทำให้แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติมีโอกาสเสื่อมโทรม ซึ่้งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น ทางสภาหอการค้าไทย ได้มองหาและคิดว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด-19 เปลี่ยน แปลงไปแน่นอน การเดินทางเป็นหมู่คณะลดน้อยลง ต้องการความเป็นส่วนตัว เน้นเรื่องความสะอาด ไม่ต้องการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม จึงเป็นที่มาของโครงการ Happy Model ที่จะเป็นกลไกทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศและที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทยมีความสุข ท่องเที่ยวอย่างดีและคุ้มค่าที่ได้เดินทางเข้ามา
“การได้นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง อาจไม่ได้หมายถึงเรื่องการจ่ายเงินเยอะ แต่เป็นเรื่องกลุ่มคนเหล่านี้ให้ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยที่เราใส่สินค้าและบริการในเรื่องของ BCG : Bio-Circular-G reen Economy ท่องเที่ยสมดุล ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) เข้าไป เราจึงใช้กลไกเรื่องของ Happy Model เข้ามา ซึ่งจุดหมายปลายทาง คือ การได้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน จะปลูกฝังชุมชนให้มีส่วนรวมตามแนวทางของ Happy Model ในการพัฒนาพื้นที่รองรับให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงสินค้าและบริการ ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนให้มากกว่าที่จะไปกระจุกตัวในเมืองหลักๆ โดยต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดีๆ ทำให้เกิดเรื่องราวขึ้นมา รวมถึงจะผูกเรื่อง BCG เข้าไปในโรงแรม มีการจัดแยกขยะ ลดเรื่องการใช้สินค้าที่มีส่วนของเคมีลง เช่น ถุงพลาสติก หรือบ่อขยะ จะต้องมีการกรองก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ เป็นต้น เป็นการส่งเสริมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel ทั้งหมดเพื่อความยั่งยืนของการท่องเที่ยว โดยที่ประเทศไทยจะต้องไม่เสียอะไร แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งทริปที่จังหวัดอุดรธานี เป็นการนำร่องในเรื่องของ Happy Model เนื่องจากทุกภาคส่วนมีความพร้อม หากเป็นที่ต้องการ ก็จะนำเข้าไปสู่แพกเกจของบริษัทนำเที่ยว ทำให้เกิดสภาพคล่องในธุรกิจบริการมากขึ้น และหลังจากทริปอุดรธานีแล้ว ก็จะมีจังหวัดนำร่องอีก ได้แก่ นครพนม สมุทรสงคราม จันทบุรี และกระบี่”
นางสาวศุภวรรณ กล่าวว่า แม้ในอนาคต นักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย หรือแม้แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามานั้น กระบวนการดูแลแหล่งท่องเที่ยวจะต้องทำควบคู่กัน มีการป้องกัน ปิด ซ่อมสร้างให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่เปิดอย่างเต็มที่ แต่ก็ยอมรับว่า ยากเหมือนกันที่จะแนะแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือชุมชน ให้เข้าใจถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและใส่ใจเรื่องการดูแลสิ่งแวล้อมผ่านการให้องค์ความรู้ และร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ ไม่ทำแบบเดิมที่เปิดกว้างนักท่องเที่ยวเต็มที่ จนทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม ทางหากสามารถทำต้นแบบเรื่อง Happy Model ในแต่ละจังหวัดนำร่อง ก็จะรวบรวมทำเป็นแนวทางในคู่มือเพื่อให้กับแต่ละจังหวัดไปบริหารจัดการได้ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีอัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน
แนะผู้ประกอบการรร.บริหารกระแสเงินสด ทำตัวให้เล็กลง!
สำหรับภาพรวมตลาดธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน นางสาวศุภวรรณ กล่าวก่อนประเทศไทยจะเริ่มมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นว่า ณ เวลานี้ ธุรกิจโรงแรมเริ่มดีขึ้น ตัวเลขอัตราการเข้าพักมีจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นที่เข้ามาตอนนี้แค่แสนกว่าคน ขณะที่ในอดีตมีตัวเลขผู้ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย 3-4 แสนคนต่นเดือน ยังน้อยมาก ดิฉันคิดว่าต้องให้เวลา และหลายประเทศก็มีปัญหาในเรื่องการเปิดและปิดประเทศ
“ภาพรวมการนักท่องเที่ยวในประเทศ ดีมาก ด้วยโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน หรือ ทัวร์เที่ยวไทย คาดว่าสิ้นปี64 ยอดจองห้องพักเต็มหมด ซึ่งคิดว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นกลยุทธ์และมาตรการที่ดีในการกระตุ้นตลาดในประเทศ แต่โดยภาพรวมแล้ว ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมเหนื่อยมากในตอนนี้ โรงแรมกว่าจะเปิดให้บริการได้ ถ้าจ้างคน(พนักงาน)ในตอนนี้ ดีมานด์ไม่มี แต่ซัพพลาย(ห้องพัก) อย่างนี้ ขาดทุนแน่นอน สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ คือ เปิดห้องพักในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการ ทำตัวให้เล็กลง ต้องมาดูความสามารถในการยืดเงิน เพราะรายได้ไม่ได้เข้ามาง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว ”นางสาวศุภวรรณกล่าว
อีสานกระทบไม่มากจากโควิด-19
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เราอยากโฟกัสเรื่องท่องเที่ยวให้คนมาเที่ยวอีสาน ซึ่งในอดีตแล้วคนภาคอีสานไม่ได้ทัวร์จีนมาเลย อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภาคอีสาน ไม่ค่อยถูกผลกระทบจากโควิด-19 หลายจังหวัดมีการควบคุมพื้นที่ได้ดี นักท่องเที่ยวภายในประเทศเดินทางมายังภาคอีสานเยอะขึ้น โรงแรมหลายแห่งในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และจังหวัดเลย มีการจองห้องพักเต็ม ขณะที่จังหวัดนครพนม ท่องเที่ยวเติบโตถึง 120%
“แน่นอนว่า จีนมา ก็เกิดแรงขับเคลื่อนที่แรงและใหญ่กว่า ซึ่งเราทำแบบจีนไม่ได้ ถ้าจะเปรียบนักท่องเที่ยวจีน ก็เหมือนกับ น้ำ เราต้องบริหารจัดการให้ดี ตอนนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับภาคอีสานมากขึ้น โดยเฉพาะจากการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูง“นายสวาท กล่าว
เฟ้นหาโปรดักส์ เจาะกลุ่มนทท.คุณภาพสูง
นายธเนศ วรศรัณย์ กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศที่มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาตามมาด้วย ซึ่งเราต้องวางแผนที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ชาวบ้าน และต่อสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งการทางเรา ได้ใส่ Happy Model เข้าไปอยู่ในแผนปฎิรูปประเทศและแผนปฎิรูปประเทศ 20 ปีด้วย ซึ่งจะนำ Happy Model เข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่อยู่ระหว่างการร่างแผนอยู่ โดยจะมีส่วนของการยกระดับอุตสาหกรรม BCG : Bio-Circular-G reen Economy ท่องเที่ยสมดุล ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) เข้าไป นอกจาก 5 จังหวัดนำร่องแล้ว เราก็มีแผนที่จะทำทั่วประเทศภายใต้ชื่อ “1 หอ 1 Happy Model“
“เมื่อโควิดหายไป และกลับสู่การท่องเที่ยวอีกครั้ง เราต้องมาดูว่าอะไรจะต้องปรับเปลี่ยน ภาพใหม่ของการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร ในส่วนของสภาหอการค้าไทย เราร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อน Happy Model ซึ่งคิดว่า ควรใช้เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ระดับท้องถิ่น รวมถึงเรื่องสุขภาพ เราอยากให้คนเข้ามาท่องเที่ยวมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย สิ่งที่เราพูดเสมอว่า เมืองที่น่าอยู่ จะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวเสมอ แต่เมืองที่น่าเที่ยวอาจจะเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ การทำ Happy Model ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่ครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการร่วมกัน เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวคุณภาพสูงในทุกระดับทุกประเภท ทำให้แต่ละจังหวัดและท้องถิ่น มีเป้าเดินที่ชัดเจน และหากจะวิ่งไปข้างหน้าต่อ เป้าหมายถัดไปต้องทำอะไรบ้าง”
นายธเนศ ขยายความถึง นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ว่า จะไม่ใช่แค่มีเงิน แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง มีสุขภาพกายใจดี ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เข้าไปท่องเที่ยวและต้องรับผิดชอบต่อสังคมที่เดินทางไปเยือน ซึ่งความรับผิดชอบทั้ง 3 ส่วน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้น และพร้อมที่จะจ่ายเพิ่ม ซึ่งสอดรับกับแนวคิดการทำ Happy Model และถือเป็นตลาดที่ใหญ่ เช่น นักท่องเที่ยวในยุโรป มองเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักท่องเที่ยวคนไทยที่เริ่มปรับตัวเช่นกัน ดังนั้น เราต้องคิดที่จะพัฒนาสินค้า(ซับพลาย) และบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ขณะเดียวกันต้องปรับแนวคิดผู้ใช้บริการในเรื่องมูลค่าเพิ่มทางจิตใจที่ต้องจ่ายเพิ่มด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เป็นการคัดกรองนักท่องเที่ยวไปในตัวด้วย
ต้องวางกฎกติกาป้องกันทุนจีนผูกขาด
นายธเนศ กล่าวถึงผลจากการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ว่า เราคงมีประสบการณ์จากจีนมาแล้ว เราเห็นการเติบโตที่อยู่ในกรุงเทพฯ พัทยา หรือแม้แต่ภูเก็ต ซึ่งเวลานักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าไทยก็เปรียบได้กับน้ำที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับนักธุรกิจ นักลงทุนตามมาด้วย สุดท้ายก็จะต้องอยู่ในกรอบที่คนกลุ่มนี้วางไว้ เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องราคาถูก โดยจะมีกลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพื่อรองรับลูกค้าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร รถนำเที่ยว เป็นต้น
แต่หลังจากที่รถไฟความเร็วสูง ลาว-จีนมาจ่อที่ประเทศไทยนั้น เราก็มีผลการศึกษาอยู่ว่า เส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่างๆของประเทศไทยได้ แต่ด้วยระบบคมนาคมที่ยังไม่สะดวกในประเทศลาว ทำให้จังหวัดหนองคาย มีความเหมาะสม หากจีนเข้ามาต้องผ่านทางจังหวัดหนองคายแน่นอน ซึ่งเราต้องหาวิธีที่จะทำให้พื้นที่ในจังหวัดหนองคายและเชื่อมจังหวัดใกล้เคียงได้ประโยชน์ร่วมกัน
“หากเราจะเปิดรับการลงทุนจากประเทศจีน เราต้องมองเรื่องของความร่วมมือ อย่างเช่นที่พัทยา จีนก็ร่วมกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น ขณะที่หอการค้าไทย และภาครัฐ ดึงการลงทุนที่มีเรื่องสิทธิประโยชน์ มีเรื่องของ BOI ได้ ถ้าเราคิดโซลูชั่นให้ดี จะไม่เสียทั้งสองฝ่าย ในต่างประเทศ ก็มีการจำกัดเรื่องการลงทุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 แต่ไม่มีใครบอกว่า รายได้ที่เกิดจากการลงทุน เอากลับไปหมด เงื่อนไขเหล่านี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องร่วมกันผลักดันออกมา ไม่ใช่ปล่อยให้น้ำท่วมไปหมด แล้วมาสร้างกติกากัน ตามแก้คงไม่ทัน เหมือนเช่นที่ภูเก็ต และพัทยา อยู่ในพื้นที่ต่างชาติไปเกือบหมด ดังนั้น เรามาคิดดูว่า เราเก่งเรื่องธุรกิจโรงแรมมีบริการที่ดี แต่เรื่องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่นั้น อาจยกให้จีนเข้ามาลงทุน หรือแม้แต่เรื่องระบบขนส่งขนาดใหญ่จีนมีความถนัด แต่ในเรื่องของขนส่งระบบย่อย ควรให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ดีไซน์เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเตรียมการไว้ก่อน มันก็เหมือนกับทางน้ำ มีทางระบายน้ำ กักเก็บน้ำ ไม่ใช่ปล่อยน้ำแล้วมาที่กักเก็บ ก็ไม่ได้ประโยชน์“นายธเนศกล่าว
ไทย ประเทศแรกของโลก ทำ Carbon Neutral Tourism
นายธเนศกล่าวว่า เราต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเราต้องการชูเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่ง แวดล้อม โดยเรากำลังมุ่งไปสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral Tourism ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นมา เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ต่างกับรูปแบบของภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นเรื่องของการชดเชย เช่น ปลูกป่าชดเชยการปล่อยมลพิษ(การเพิ่มเครดิต)เป็นต้น
“รูปแบบของการท่องเที่ยว จะต่างกัน จะมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ รู้จักใช้อย่างฉลาด ลดการใช้สิ่งของ ชดเชยหรือการเอาคืนมา เช่น บางโรงแรมจะมีจักรยานให้ลูกค้าได้ปั่น การปั่นแต่ละครั้งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนไปยังโรงงานได้ เป็นกิจกรมชดเชย ซึ่งได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้”.